ดิวเทอรอนและดิวเทอเรียม

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ดิวเทอรอน (deuteron) เป็นอนุภาครังสีโดยเป็นนิวเคลียสของดิวเทอเรียม (deuterium มีสัญลักษณ์คือ D หรือ 2H) ซึ่งเป็นไอโซโทปหนึ่งในสามชนิดของอะตอมไฮโดรเจน ดิวเทอเรียมในธรรมชาติมีความอุดม (abundance) น้อยมากเท่ากับ 1.5 x 10-4 โดยเปรียบเทียบกับความอุดมของโปรเทียมหรือไฮโดรเจนธรรมดาคือ 0.99985

 
 
นิวเคลียสของไอโซโทป 3 ชนิดของไฮโดรเจน คือ โปรเทียม ดิวเทอเรียม และทริเทียม
(ภาพ: http://education.jlab.org/)

ดิวเทอเรียมประกอบขึ้นจากอนุภาคมูลฐาน 3 ชนิดคือโปรตอนและนิวตรอน อย่างละ 1 อนุภาคเกาะกันอยู่เป็นนิวเคลียส และมีอิเล็กตรอนด้วยจำนวน 1 อนุภาค หากอิเล็กตรอนของดิวเทอเรียมนี้ถูกสลัดออกไป จะทำให้เหลือแต่นิวเคลียสคือดิวเทอรอนอยู่เป็นอิสระและเป็นอนุภาคเสถียรเช่นกันกับอนุภาคโปรตอนเมื่ออยู่อิสระ ต่างกับอนุภาคนิวตรอนเมื่ออยู่อิสระจะไม่เสถียรและสลายไปในเวลาประมาณ 10.3 นาที

มวลของดิวเทอรอนเมื่อเทียบเป็นพลังงานมีค่า 1875.6 MeV และหากนิวตรอนในดิวเทอรอนสลาย ก็จะแปรเป็นอนุภาค 3 ชนิดคือ โปรตอน อิเล็กตอน และนิวทริโน ซึ่งมีมวลรวมกันเท่ากับ 1877.05 MeV ซึ่งมากกว่ามวลของดิวเทอรอน แสดงว่านิวตรอนในดิวเทอรอนไม่สามารถจะสลายในลักษณะนี้ได้ กล่าวคือการสลายแบบนี้ (การสลายให้อนุภาคบีตาหรือ beta decay ) ให้พลังงานออกมา 0.78 MeV แต่พลังงานยึดเหนี่ยวของดิวเทอรอนสูงกว่าคือเท่ากับ 2.2 MeV จึงทำให้ดิวเทอรอนมีความเสถียร

ตามทฤษฎีการกำเนิดจักรวาลที่เรียกว่าแบบจำลองบิกแบง (big bang) นั้น สันนิษฐานว่าในระยะต้นเมื่อจักรวาลถือกำเนิดขึ้นมานั้น มีจำนวนของโปรตอนอิสระและนิวตรอนอิสระอยู่เท่ากัน และมีความร้อนแรงคือมีพลังงานสูงมาก ดังนั้น นิวตรอนซึ่งไม่เสถียรจึงรับเอาพลังงานส่วนเกินเข้ามาเพื่อแปรเป็นโปรตอนซึ่งเสถียร กับอิเล็กตรอน จนระยะต่อมาเมื่อจักรวาลเย็นลงและไม่มีพลังงานเหลือพอให้นิวตรอนแปรเป็นโปรตอนได้อีก เพื่อให้เกิดเสถียรภาพได้ต่อไป นิวตรอนอิสระที่เหลืออยู่ก็เข้ารวมตัวกับโปรตอนเป็นดิวเทอรอน ดังนั้นจักรวาลทุกวันนี้จึงประกอบด้วยดาวฤกษ์แบบเดียวกับดวงอาทิตย์ของสุริยจักรวาของเรา ที่มีองค์ประกอบเป็นโปรตอนหรืออะตอมไฮโดรเจน แต่ดิวเทอรอนซึ่งเดิมมีอยู่น้อย ย่อมถูกทำลายหมดไปด้วยปฏิกิริยาฟิวชันที่เกิดบนดาวฤกษ์ และคงเหลืออยู่ได้ตามดาวเคราะห์ในรูปของดิวเทอเรียม โดยบนโลกพบดิวเทอเรียมรวมตัวเป็นสารประกอบกับอะตอมออกซิเจนเป็นโมเลกุลของน้ำมวลหนัก (heavy water)

 
 
มวลของอะตอมธาตุเบาในระยะต้น ๆ ของบิกแบง (บอกระดับอุณหภูมิไว้ด้วย)
(ภาพ: http://www.astro.ucla.edu/~wright/BBNS.html)

ดิวเทอเรียมเป็นความหวังทางพลังงานของโลกในอนาคต ด้วยปฏิกิริยาฟิวชันระหว่าง ดิวเทอเรียมกับดิวเทอเรียม (D-D reaction) หรือดิวเทอเรียมกับทริเทียม (D-T reaction) ซึ่งในอนาคตจะสามารถทำได้ในเชิงพาณิชย์ (ปฏิกิริยาฟิวชันบนดวงอาทิตย์ คือการหลอมนิวเคลียสของโปรเทียมกับโปรเทียม ซึ่งใช้พลังงานสูงกว่าการหลอมนิวเคลียสดิวเทอเรียมอย่างมากมหาศาล จนไม่สามารถทำได้ในเชิงพาณิชย์)

ในด้านเคมีและโดยเฉพาะชีวเคมี สามารถใช้ดิวเทอเรียมเป็นสารติดตาม (tracer) ได้ในหลายกรณีเนื่องจากพื้นผิวโลกประกอบด้วยน้ำถึงสามในสี่ โดยน้ำในธรรมชาติมีน้ำมวลหนักอยู่ด้วยเล็กน้อย ดังนั้น ในทางธรณีเคมี (geochemistry) จึงใช้วิธีตรวจสอบแหล่งกำเนิดน้ำ ได้จากความแตกต่างของปริมาณดิวเทอเรียมในแหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งนำไปประยุกต์ใช้ในการหาต้นตอ และป้องกันมลพิษในน้ำได้ และเพราะว่าน้ำเป็นสิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีวิตของมนุษย์ ในทางชีวเคมีจึงสามารถติดตามเส้นทางของสารอาหาร หรือตัวยาในพืชหรือในร่างกายมนุษย์ได้ โดยการติดตามเส้นทางที่น้ำมวลหนักพาสารเหล่านั้นไป

 

แหล่งข้อมูล

- http://hyperphysics.phy-astr.gsu.edu/Hbase/particles/deuteron.html
- http://en.wikipedia.org/wiki/Deuterium