การต้านทานรังสีของจุลินทรีย์ในอาหาร

เสาวพงศ์ เจริญ
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

การถนอมอาหารให้สามารถเก็บไว้ได้นาน อาศัยหลักการทำให้จำนวนจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเน่าเสียลดลง เพื่อยืดอายุการเก็บอาหารให้นานขึ้น การฉายรังสีอาหารก็เป็นกระบวนการหนึ่ง ที่ทำให้จุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเน่าเสียนั้นลดลง รวมถึงช่วยกำจัดจุลินทรีย์ก่อโรค ที่ปนเปื้อนในอาหารด้วย รังสีมีผลต่อการทำลายเซลล์ของจุลินทรีย์ในอาหารได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงโดยการที่รังสีไปทำลายการทำงานของเซลล์จุลินทรีย์ จนเซลล์ตายได้ ส่วนทางอ้อม โดยรังสีทำให้มีการแตกตัว และแยกสลายของน้ำ ที่เป็นองค์ประกอบของเซลล์ หรืออาหารเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ แล้วเกิดปฏิกิริยาทำให้เซลล์จุลินทรีย์ตาย หรือบาดเจ็บได้ การใช้รังสีลดจำนวนจุลินทรีย์ในอาหาร มีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึง เพราะจุลินทรีย์ต่างชนิดกันและในอาหารต่างชนิดกัน มีความต้านทานต่อรังสีที่ต่างกัน การกำหนดปริมาณรังสีที่ใช้กับอาหาร จึงต้องให้เหมาะสมกับชนิดและปริมาณจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนในอาหารนั้น สำหรับมาตรฐานอาหารฉายรังสีของประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 297 พ.ศ. 25491 กำหนดว่า อาหารฉายรังสีต้องได้รับปริมาณรังสีดูดกลืนสูงสุดโดยรวมไม่เกิน 10 กิโลเกรย์ ซึ่งก็เป็นปริมาณรังสีที่ไม่สามารถทำลายเชื้อจุลินทรีย์ในอาหารให้หมดไปโดยสิ้นเชิง อีกทั้งการกำหนดปริมาณรังสี เพื่อลดจุลินทรีย์ในอาหาร ไม่จำเป็นต้องใช้ปริมาณรังสีสูงสุดถึง 10 กิโลเกรย์ในอาหารทุก ๆ ชนิด แต่ต้องคำนึงถึงปริมาณรังสีต่ำสุด ให้เหมาะสมกับอาหารแต่ละชนิด ซึ่งก็แล้วแต่วัตถุประสงค์ของการฉายรังสี เช่น ฉายรังสีปริมาณรังสี 6 กิโลเกรย์ในพริกป่น พริกไทย ก็สามารถลดจุลินทรีย์ก่อโรคลงได้หมด2 ฉะนั้นการฉายรังสีอาหาร จึงต้องมีหลักเกณฑ์ในการคำนวณปริมาณรังสี เพื่อให้ลดปริมาณจุลินทรีย์ลงให้ได้ตามวัตถุประสงค์ โดยจะคำนึงถึงจุลินทรีย์ก่อโรค ที่มักปนเปื้อนในอาหารนั้น ๆ เป็นเกณฑ์ในการฉายรังสีอาหาร เช่น เนื้อไก่ที่อาจมีเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลลาปนเปื้อน ก็มักใช้เชื้อซัลโมเนลลานี้ เป็นเชื้อเป้าหมายในการฉายรังสีเพื่อทำลายให้หมดไป ซึ่งเราก็จะต้องหาว่าเชื้อจุลินทรีย์นี้มีความต้านทานต่อรังสีมากน้อยเพียงใดก่อน จึงจะไปคำนวณหาปริมาณรังสีที่จะใช้กับอาหารที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อจุลินทรีย์นี้

ในทางปฏิบัติ ความต้านทานต่อรังสีของจุลินทรีย์ ทำได้โดยมีการทดลองในห้องปฏิบัติการ โดยนำเชื้อจุลินทรีย์ที่ต้องการหาความต้านทานรังสี มาใส่ในอาหารเลี้ยงเชื้อ หรืออาหารที่เราต้องการฉายรังสี ด้วยความเข้มข้นของจุลินทรีย์เริ่มต้นที่เราเตรียมไว้ แล้วนำอาหารเลี้ยงเชื้อหรืออาหารนั้น ไปฉายรังสีที่ปริมาณรังสีต่าง ๆ ทำการตรวจหาปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ในอาหารที่ฉายรังสี ในแต่ละปริมาณรังสีนั้น ๆ แล้วนำมาเขียนกราฟความสัมพันธ์ของค่าที่เรียกว่า D10 ดังนี้3

N =
จำนวนจุลินทรีย์ที่เหลือรอดหลังฉายรังสีที่ ปริมาณรังสีต่าง ๆ
N0=
จำนวนจุลินทรีย์เริ่มแรกก่อนฉายรังสี
D =
ปริมาณรังสีต่าง ๆ ที่ใช้ในการลดจำนวนจุลินทรีย์
D10 =
คือปริมาณรังสีที่ทำให้ลดจำนวนจุลินทรีย์ลงได้ 90% หรือ 1 Log cycle

ถ้าเดิมมีจุลินทรีย์ 1 แสนเซลล์ ปริมาณรังสีที่ทำให้ลดจุลินทรีย์ลงเหลือ 1 หมื่นเซลล์ หรือลดลง 90% (เหลือรอด 10%) ซึ่งเท่ากับลดลง 1 Log cycle ของจำนวนจุลินทรีย์ นั่นคือปริมาณรังสีที่เรียกว่า D10 ของจุลินทรีย์นั้น เช่น ค่า D10 ของเชื้อซัลโมเนลลาเท่ากับ 0.2 กิโลเกรย์ หมายถึง ต้องใช้ปริมาณรังสี 0.2 กิโลเกรย์ ในการลดจำนวนเชื้อซัลโมเนลลานี้ลงจากเดิม 90% หรือถ้ามีจำนวนเชื้อเริ่มต้น 103 เซลล์ก็จะลดจำนวนลงเหลือ 102 เซลล์ เป็นต้น เมื่อเราทราบ D10 ของเชื้อจุลินทรีย์แต่ละชนิด เราก็สามารถกำหนดว่าเราจะฉายรังสีปริมาณทั้งหมดเท่าไรในการลดจุลินทรีย์นั้น ๆ ให้ลงมาเหลือปริมาณจุลินทรีย์ที่เราต้องการ หรือสามารถกำหนดปริมาณรังสีในการกำจัดจุลินทรีย์ก่อโรคในอาหารให้หมดไปได้

ทั้งนี้อาหารที่จะนำมาฉายรังสีก็ไม่ควรมีจุลินทรีย์โดยรวมหรือจุลินทรีย์ก่อโรคปนเปื้อนสูงเกินกว่า 106-107 เซลล์ต่อหน่วยปริมาณอาหารตามข้อกำหนดของหลักเกณฑ์ว่าด้วยสุขลักษณะที่ดีของการฉายรังสีอาหาร ในทางปฏิบัติของการทดลองหา D10 จึงมักใช้การเติมเชื้อเริ่มต้นประมาณ 106 เซลล์ต่อหน่วยปริมาณอาหาร และการจะฉายรังสีให้ลดจำนวนเชื้อลงให้เหลือน้อยกว่า 1 เซลล์ หรือลดลง 7 Log cycles เรียกว่า 7-D concept หรือใช้ปริมาณรังสี 7 เท่าของ D10 นั่นเอง

การจะหาว่าเชื้อจุลินทรีย์มีความต้านทานต่อรังสีมากน้อยเพียงใด หรือหาD10 ของเชื้อจุลินทรีย์ มีปัจจัยต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องดังนี้

  1. ชนิดของรังสีและปริมาณรังสี
  2. ชนิดและสายพันธุ์ของแบคทีเรีย
  3. ความเข้มข้นของจำนวนแบคทีเรีย
  4. องค์ประกอบทางเคมีของอาหารเลี้ยงเชื้อ
  5. สภาวะทางฟิสิกส์ของอาหารเลี้ยงเชื้อ
  6. สภาพการเก็บเชื้อหลังการฉายรังสี

D10 ของแบคทีเรียต่างพันธุ์ต่างชนิดในอาหารแบบต่าง ๆ 3


แบคทีเรีย
อาหารเลี้ยงเชื้อ
D10 (เกรย์)

สภาพอาหารเลี้ยงเชื้อต่างกัน  
Staphylococcus aureus  Nutrient broth (อาหารเหลว) 100
Staphylococcus aureus Dry (อาหารแห้ง) 650
     
แบคทีเรียชนิดเดียวกันต่างสายพันธุ์กัน  
Pseudomonas aeruginosa Nutrient broth 30
Pseudomonas fluorescens  Nutrient broth 20
     
อาหารเลี้ยงเชื้อมีองค์ประกอบซับซ้อนต่างกัน  
Salmonella senftenberg Liquid whole egg 170
  Meat and bone meal 500
แบคทีเรียมีสปอร์  
Bacillus subtilis (spores)  Saline 2600

จุลินทรีย์ต่างพันธุ์ต่างชนิดกันในอาหารต่างประเภทกันก็มี D10ที่แตกต่างกันออกไป จุลินทรีย์ที่มี D10 สูงแสดงว่ามีความต้านทานต่อรังสีมาก

จากตารางจะเห็นว่าเชื้อแบคทีเรียชนิดเดียวกัน สายพันธุ์เดียวกัน แต่เลี้ยงในอาหารเลี้ยงเชื้อต่างชนิดกันก็มี D10 ที่ต่างกัน โดยในอาหารแห้งต้องใช้รังสีสูงกว่า เชื้อแบคทีเรียชนิดเดียวกัน แม้เลี้ยงในอาหารเลี้ยงเชื้อเดียวกัน แต่มีความต่างสายพันธุ์กันก็มี D10 ที่ต่างกัน

อาหารเลี้ยงเชื้อที่มีองค์ประกอบของอาหารซับซ้อนกว่าก็จะทำให้เชื้อมีความต้านทานต่อรังสีสูงกว่า  และเชื้อที่มีสปอร์ เช่น Bacillus subtilis ก็จะมีความต้านทานต่อรังสีสูงกว่าเชื้อที่ไม่มีสปอร์ เช่น Salmonella หรือ Pseudomonas

bacteria gram positive & negative
(www. apsnet.org)
bacteria shapes
(www. ncl.ac.uk)

นอกจากนี้แบคทีเรียชนิดแกรมบวก (gram+) ต้านทานต่อรังสีได้มากกว่าชนิดแกรมลบ (gram -) และพวกที่มีรูปร่างกลม (cocci) ต้านทานรังสีได้มากกว่าพวกมีรูปร่างเป็นแท่ง (rod) ส่วนสถานะของอาหาร และลักษณะการบรรจุของอาหาร ก็มีผลต่อการต้านทานรังสีของจุลินทรีย์ เช่น อาหารแช่แข็งหรืออาหารที่บรรจุแบบสุญญากาศ ต้องใช้รังสีในการทำลายจุลินทรีย์มากกว่าอาหารสด หรืออาหารที่บรรจุแบบมีอากาศผ่านได้

เอกสารอ้างอิง

  1. กระทรวงสาธารณสุข, 2549. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง คำชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2549 เรื่อง อาหารฉายรังสี. นนทบุรี.
  2. จินตนา บุนนาคและคณะ, 2534. การปรับปรุงคุณภาพทางจุลินทรีย์ของพริกแห้งและพริกไทยด้วยรังสีแกมมา. รายงานวิชาการประจำปี 2534 สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ. (พปส-3-11) กรุงเทพฯ
  3. IAEA, 1982. Training Manual on Food Irradiation Technology and Techniques. Second edition. Technical Report Series No.114. Vienna, Austria.