แบคทีเรียทนรังสี
Deinococcus radiodurans |
กนกพร บุญศิริชัย
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
|
คุณทราบไหมว่าหากมนุษย์เราได้รับรังสีทั่วร่างกายเพียง 5 เกรย์ก็อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่แบคทีเรียในวงศ์ Deinococcaceae สามารถทนรังสีได้ถึงในช่วง 104 เกรย์ เจ้าแบคทีเรียตัวเก่งนี้ทำเช่นนั้นได้อย่างไร
Deinococcaceae ประกอบด้วยแบคทีเรียสองสกุลคือ Deinococcus และ Deinobacter ทั้งสองสกุลต่างกันตรงที่ Deinococcus เป็นแบคทีเรียแกรมบวก แต่Deinobacter เป็นแบคทีเรียแกรมลบ Deinococcus radiodurans เป็นสปีชีส์ที่เป็นรู้จักมากที่สุดของตระกูลนี้ มันได้รับการบันทึกใน "The Guiness Book of World Records" ว่าเป็นแบคทีเรียที่ทนทายาทมากที่สุดในโลก เพราะมันสามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมสุดโต่งต่าง ๆ ได้สารพัด อีกทั้งสามารถทนต่อรังสีเฉียบพลันได้ถึง 5,000 เกรย์อย่างไม่สะทกสะท้าน แม้ได้รับรังสีเฉียบพลันถึง 15,000 เกรย์ ร้อยละ 37 ของประชากรก็ยังสามารถแบ่งตัวและมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ และมันยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างสบายๆ ในสภาพแวดล้อมที่มีการปลดปล่อยรังสีตลอดเวลาในอัตรา 60 เกรย์ต่อชั่วโมง |
Resistance to Acute Gamma-Irradiation |
|
ความทนต่อรังสีของ Deinococcus สปีชีส์ต่างๆ เปรียบเทียบกับ Escherichia coli และ D. radiodurans สายพันธุ์กลาย (recA-(rec30) และ recA-sodA-(MD886) ซึ่งมีความผิดปกติในการซ่อมแซมดีเอ็นเอ
(M.J. Daly. http://www.usuhs.mil/pat/deinococcus/index_20.htm) |
|
D. radiodurans ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1956 โดย Arthur W. Anderson จาก Oregon Agricultural Experiment Station เมือง Corvallis มลรัฐออริกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาทำการทดลองเกี่ยวกับเนื้อสัตว์ฉายรังสี และพบว่าหลังจากฉายรังสีในปริมาณสูงถึง 10,000 เกรย์ ซึ่งสามารถฆ่าเซลล์สิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่เขารู้จัก เนื้อสัตว์ที่ได้รับรังสีก็ยังเกิดการเน่าเสีย เขาจึงแยกและเพาะเลี้ยงแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการเน่าเสียนั้น แบคทีเรียนี้ได้รับการขนานนามในภายหลังว่า Deinococcus radiodurans แปลตามศัพท์ว่า ผลไม้ประหลาดซึ่งทนต่อรังสี |
|
|
D. radiodurans บนอาหารเลี้ยงเชื้อ
(M.J. Daly. ปรากฏใน www.microbeworld.org) |
กลุ่มเซลล์ของD. radiodurans
(M.J. Daly. ปรากฏใน www.spaceref.com) |
|
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เซลล์โดยทั่วไปอ่อนแอต่อรังสีคือ อันตรายจากรังสีที่มีต่อดีเอ็นเอซึ่งเป็นสารพันธุกรรม และโปรตีนซึ่งเป็นโครงสร้างและเป็นเครื่องจักรอันสำคัญของเซลล์ D. radiodurans มีกลไกที่จะปกป้องทั้งดีเอ็นเอและโปรตีนของตน เซลล์ของแบคทีเรียชนิดนี้ประกอบด้วยโครโมโซมมากถึง 4 ชุด หากดีเอ็นเอในโครโมโซมชุดหนึ่งชุดใดเกิดความเสียหาย ดีเอ็นเอในโครโมโซมชุดอื่นก็ยังสามารถทำงานต่อไปได้ และ D. radiodurans ยังสามารถซ่อมแซมการแตกหักของดีเอ็นเอโดยเฉพาะ double-strand break ได้อย่างรวดเร็ว (ภายใน 12-24 ชั่วโมง) เริ่มด้วยการเชื่อมต่อชิ้นส่วนดีเอ็นเอผ่านกระบวนการ single-strand annealing ตามด้วยการถ่ายแบบข้อมูลพันธุกรรมจากโครโมโซมที่ไม่ถูกทำลายด้วยกระบวนการ homologous recombination อีกทั้งโครโมโซมของมันที่มีอยู่ทั้งสี่ชุดยังจัดเรียงซ้อนกันอย่างแน่นหนาในลักษณะที่เอื้อต่อการเกิด homologous recombination ด้วย |
|
|
|
สีน้ำเงินคือโครโมโซมของ D. radiodurans ซึ่งจัดเรียงตัวกันแน่นในลักษณะวงแหวน
(S. Levin-Zaidmann ปรากฏใน www.wissenschaft-online.de) |
|
นอกจากรังสีจะก่ออันตรายต่อชีวโมเลกุลโดยตรง รังสีชนิดก่อไอออนยังก่อให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นภายในเซลล์ โดยเฉพาะอนุมูลอิสระไฮดรอกซิล (hydroxyl radicals) และซูเปอร์ออกไซด์ (superoxide) อนุมูลอิสระนี้ว่องไวต่อปฏิกิริยามากและเป็นอันตรายต่อดีเอ็นเอและโปรตีนของเซลล์ D. radiodurans มีเม็ดสีชนิดแคโรทีนอยด์ซึ่งทำให้มันมีสีแดงและช่วยปกป้องมันจากอนุมูลอิสระ นอกจากนี้มันยังมีเอนไซม์ที่สามารถป้องกันอันตรายจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน เช่น superoxide dismutase และ catalase โดยพบว่า catalase ของ D. radiodurans มีประสิทธิภาพมากกว่า catalase ของแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ และยังพบว่า D. radiodurans มีสัดส่วนของแมงกานีสต่อเหล็ก (Mn(II) : Fe) สูง และพบความสัมพันธ์ในเชิงบวกระหว่างปริมาณของ Mn(II) ในเซลล์กับความทนต่อรังสี Mn(II) เป็น cofactor ที่สำคัญสำหรับการทำงานของเอนไซม์ superoxide dismutase แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า Mn(II) มีบทบาทอย่างยิ่งในการปกป้องโปรตีนจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน มากกว่าการเป็นเพียง cofactor ซึ่งไม่สามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณของ Mn(II) กับความทนทานต่อรังสีได้ทั้งหมด |
|
ความทนต่อรังสีและสภาพแวดล้อมสุดโต่ง ทำให้ D. radiodurans กลายเป็น superbug ที่นักวิทยาศาสตร์นำมาดัดแปลงด้วยเทคนิคพันธุวิศวกรรม เพื่อใช้ในการทำความสะอาดน้ำทิ้ง ซึ่งปนเปื้อนด้วยโลหะหนักและสารกัมมันตรังสี ตัวอย่างเช่น ยีน bacterial mercuric reductase จาก Escherichia coli (แบคทีเรียที่พบในลำไส้มนุษย์ซึ่งมักเป็นที่รู้จักในนาม E. coli) ถูกตัดต่อใส่เข้าไปใน D. radiodurans เพื่อใช้กำจัดปรอทในน้ำทิ้ง ซึ่งปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงงานผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และยีน tod และ xyl จาก Psuedomonas putida (แบคทีเรียชนิดหนึ่งซึ่งอ่อนแอต่อรังสี) ถูกใส่เข้าไปใน D. radiodurans เพื่อใช้กำจัด toluene ในน้ำทิ้งซึ่งปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีเช่นกัน
เอกสารอ้างอิง |
1. Battista et al., Science 302, 567 (2003).
2. Brim et al., Microbiology 152, 2469 (2006).
3. Daly, http://www.usuhs.mil/pat/deinococcus/index_20.htm
4. Daly et al., Science 306, 1025 (2004).
5. Levin-Zaidman et al., Science 299, 254 (2003).
6. Lottman, http://web.umr.edu/~microbio/BIO221_2000/Deinococcus_radiodurans.html
7. Minsky et al., Science 302, 568 (2003).
8. Wikipedia, http://en.wikipedia.org/wiki/Deinococcus_radiodurans |
|