แมลงที่พบในมะขามหวาน |
ยุทธพงศ์ ประชาสิทธิศักดิ์ และทศพล แทนรินทร์
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
|
|
|
|
ผีเสื้อกลางคืนในมะขามหวาน |
|
มะขามหวาน มีศัตรูที่สร้างความเสียหายในระหว่างการเก็บรักษาอยู่ 2 อย่างคือ แมลงและเชื้อรา วิธีการเก็บรักษาต่าง ๆ ที่เกษตรกรใช้กันในปัจจุบันนี้ สามารถควบคุมเชื้อราได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่อาจทำลายแมลงให้หมดสิ้นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการนึ่งด้วยไอน้ำ อบไอร้อน หรืออบด้วยตู้อบไมโครเวฟก็ตาม อย่างไรก็ตาม วิธีการที่กล่าวมานี้สามารถทำลายแมลงไปได้มาก ซึ่งมีผลทำให้ช่วยลดการสูญเสียของมะขามหวานลงได้ ในการศึกษาวิจัย เรื่องการใช้รังสีเพื่อลดการสูญเสียของมะขามหวานในระหว่างการเก็บรักษา ของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (ชื่อเดิมในขณะศึกษาวิจัยคือกองวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ) พบว่าวิธีการฉายรังสีปริมาณ 1 กิโลเกรย์ ร่วมกับการลดความชื้นในมะขามหวาน จะช่วยควบคุมเชื้อรา และกำจัดแมลงที่ปนเปื้อนมาในมะขามหวานได้หมด(1) การศึกษานี้ ได้สำรวจชนิดของแมลงที่เข้าทำลายมะขามหวาน พันธุ์ที่นิยมปลูกในทางการค้า จำนวน 10 สายพันธุ์ ได้แก่ สีทอง ศรีชมภู ขันตี หมื่นจง อินทผาลัม น้ำผึ้ง ประกายทอง ครูอิน บ้านพระโรจน์ และแจ้ห่ม(2) โดยการเก็บแมลงหรือตัวหนอนชนิดต่าง ๆ ที่ตรวจพบในมะขามหวาน นำไปเลี้ยงจนเป็นตัวเต็มวัย แล้วส่งให้กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร ไปจำแนกหาชนิดของแมลง ทำให้ทราบชื่อทางวิทยาศาสตร์ของแมลงต่าง ๆ ที่พบในมะขามหวาน วัตถุประสงค์ของการเขียนเรื่องนี้คือ ต้องการนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษามาเสนอให้ทราบ เพื่อว่าอาจเป็นประโยชน์กับผู้ที่จะศึกษาในด้านอื่น ๆ ของมะขามหวานในโอกาสต่อไป
แมลงที่พบในมะขามหวาน จากการสำรวจชนิดของแมลงที่พบในมะขามหวาน อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มของผีเสื้อซึ่งอยู่ในอันดับ (order) Lepidoptera กับกลุ่มของแมลงปีกแข็งที่ในอันดับ Coleoptera สำหรับแมลงปีกแข็ง พบว่ามีด้วยกันหลายชนิด บางชนิดกัดกินเฉพาะเนื้อของมะขามหวาน แต่มีบางชนิดจะกินอยู่ภายในเม็ดของมะขามหวานเลยทีเดียว กลุ่มผีเสื้อเป็นกลุ่มที่พบว่าเข้าทำลายมะขามหวานในระยะที่เป็นตัวหนอน โดยหนอนเหล่านี้ จะกัดกินเนื้อมะขามหวาน พร้อมทั้งถ่ายมูลออกมาตลอดเวลา ตัวหนอนมีขนาดค่อนข้างโต บางครั้งเมื่อแกะเปลือกมะขามหวานออกมา พบว่ามะขามหวานเหลือแต่เม็ด ไม่มีเนื้อเหลืออยู่ อาจมีมูลเป็นเกล็ดเล็ก ๆ พร้อมใยสีขาวอยู่ภายในฝักจำนวนมาก แมลงที่พบได้บ่อย ๆ ได้แก่
ชนิดของแมลงที่พบในมะขามหวานพันธุ์ต่าง ๆ* |
อันดับ (order) |
วงศ์ (family) |
ชื่อวิทยาศาสตร์ (scientific name) |
Coleoptera |
Anobiidae |
-Lasiodermaserricone Fabricius |
|
Bruchidae |
-Caryedon gonagra Fabricius |
|
Cerambycidae |
-Perissus lactus Lameere |
|
Curculionidae |
-Calandra linearis Herbst |
|
Nitidulidae |
-Carpophilus dimidiatus Fabricius |
|
Silvanidae |
-Oryzaephilus sp. |
|
Tenebrionidae |
-Alphitobius laevigatus Fabricius |
|
|
-Tribolium castaneum Herbst |
Lepidoptera |
Pyralidae |
-Citripestis sagitiferella Moore |
* = มะขามหวานจำนวน10 สายพันธุ์ที่ใช้ในการศึกษา(2) |
ผีเสื้อกลางคืน (Moth) เป็นแมลงที่พบได้เสมอในทุกสายพันธุ์ของมะขามหวาน ระยะที่เป็นตัวหนอน จะกัดกินเนื้อมะขามหวานและถ่ายมูลทิ้งไว้ ขณะเข้าดักแด้จะสร้างใยสีขาวห่อหุ้มตัวไว้ก่อนจะออกเป็นตัวเต็มวัย พบได้ทั้งที่อยู่ภายในฝักและภายนอกฝักโดยจะออกมาเกาะที่ฝักมะขามหวาน เป็นแมลงในอันดับ Lepidoptera วงศ์ (family) Pyralidae มีชื่อวิทยาศาสตร์ Citripestis sagitiferella (Moore) จัดเป็นแมลงที่สร้างความเสียหายอย่างมากชนิดหนึ่ง ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมะขามหวาน อย่างไรก็ตาม แมลงกลุ่มนี้สามารถทำลายได้ง่ายด้วยการอบไอน้ำ ไอร้อน และการอบด้วยตู้อบไมโครเวฟ |
|
|
หนอนผีเสื้อกลางคืนกินเนื้อมะขามหวาน |
ผีเสื้อกลางคืน Citripestis sagitiferella (Moore) |
|
ด้วงขาโต เป็นแมลงปีกแข็งที่ชอบเจาะกินเม็ดมะขามหวาน อยู่ในวงศ์ Bruchidae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Caryedon gonagra (Fabricious) มันสามารถเจาะภาชนะบรรจุที่เป็นวัสดุทำจากพีวีซีหรือพลาสติกหนาได้ โดยในระยะที่เป็นดักแด้ จะไปเกาะติดกับภาชนะบรรจุ แล้วปล่อยสารเคมีออกมา ย่อยสลายวัตถุที่มันเกาะติดอยู่และทะลุออกไป การทำลายแมลงชนิดนี้ ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะมันอาศัยอยู่ภายในเม็ดของมะขามหวาน ความร้อนจากการอบไอน้ำ ไอร้อน หรือตู้อบไมโครเวฟอาจเข้าไปได้ไม่ถึง ดังนั้น จึงยังคงพบแมลงดังกล่าวในมะขามหวานที่ผ่านวิธีการที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้ การกำจัดด้วยการใช้ความร้อน อาจต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเนื้อของมะขามหวาน วิธีการทำลายที่ใช้ได้ผลดีกับแมลงชนิดนี้คือ การฉายรังสีแกมมา เพราะสามารถทำลายแมลงทุกชนิดได้โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะอยู่ส่วนไหนของมะขามหวาน |
|
|
ดักแด้ และตัวเต็มวัย ของด้วงขาโต (Caryedon gonagra Fabricious) |
|
ด้วงหนวดยาว เป็นแมลงปีกแข็งอีกชนิดหนึ่งที่พบในมะขามหวานพันธุ์ฝักโค้งได้แก่ สีทอง หมื่นจง และน้ำผึ้ง เป็นต้น อยู่ในวงศ์ Cerambycidae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Perissus lactus (Lameere) ตัวหนอนมีสีขาวเหมือนน้ำนม พบว่ามันจะอาศัยอยู่ในฝักมะขามหวานประมาณ 10-12 สัปดาห์ ตัวเต็มวัยจึงออกมาภายนอกฝักมะขามหวาน เป็นแมลงปีกแข็งที่มีสีสันและลวดลายสวยงาม |
|
|
หนอนด้วงหนวดยาวในมะขามหวาน และตัวเต็มวัย ของด้วงหนวดยาว Perissus lactus (Lameere) |
|
ด้วงงวงมะขามหวาน เป็นแมลงจำพวกปีกแข็ง มีลักษณะคล้ายด้วงงวงในข้าวสารแต่ตัวมีขนาดเล็กกว่า อยู่ในวงศ์ Curculionidae มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่าCalandra linearis (Herbst) พบในมะขามหวานพันธุ์ต่าง ๆ เช่น สีทอง ศรีชมภู ขันตี ประกายทอง บ้านพระโรจน์ และครูอิน เป็นต้น เป็นแมลงอีกชนิดหนึ่งที่พบว่ามีการเข้าทำลายมะขามหวานค่อนข้างสูง |
|
|
หนอนด้วงงวงในมะขามหวาน |
ด้วงงวงมะขามหวาน Calandra linearis (Herbst) |
|
ด้วงผลไม้แห้ง เป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่งมีขนาดค่อนข้างเล็ก อยู่ในวงศ์ Nitidulidae มีชื่อทางวิทยาศาสตร์Carpophilus dimidiatus (Fabricius) พบในมะขามหวานหลายพันธุ์ โดยเฉพาะพันธุ์ที่มีเนื้อฉ่ำ ได้แก่ พันธุ์ประกายทอง อินทผาลัม และบ้านพระโรจน์ เป็นต้น เป็นแมลงที่พบได้เสมอในระหว่างการเก็บรักษา |
|
ด้วงผลไม้แห้ง (Carpophilus dimidiatus Fabricius) |
|
มอดฟันเลื่อย เป็นแมลงปีกแข็ง มีขนาดเล็ก ลำตัวยาวมีสีน้ำตาลเข้มจนออกดำ อยู่ในวงศ์ Silvanidae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oryzaephilus sp. ชอบกัดแทะกินเปลือกของมะขามหวาน การตรวจหาแมลงชนิดนี้ทำได้ง่าย โดยให้สังเกตว่า ถ้าในภาชนะบรรจุมีผงฝุ่นของมะขามหวานจำนวนมาก ๆ ก็จะมีโอกาสพบแมลงชนิดนี้อยู่ด้วยเสมอ เป็นแมลงที่ใช้ผลไม้แห้งเป็นแหล่งอาหาร จึงเป็นตัวสร้างปัญหาให้กับเกษตรกรในการเก็บรักษามะขามหวาน
มอดยาสูบ เป็นแมลงปีกแข็งอีกชนิดหนึ่งที่พบการทำลายมะขามหวาน มีขนาดเล็ก ลำตัวมีรูปทรงโค้งกลม สีน้ำตาล อยู่ในวงศ์ Anobiidae มีชื่อวิทยาศาสตร์ Lasioderma serricorne (Fabricius)
เป็นแมลงปีกแข็งอีกชนิดหนึ่งที่ทำลายผลไม้แห้งในระหว่างการเก็บรักษา นอกเหนือจากใบยาสูบที่เป็นพืชหลักที่มันทำลาย |
|
|
มอดฟันเลื่อย Oryzaephilus sp. |
มอดยาสูบ Lasioderma serricorne (Fabricius) |
|
มอดแป้ง เป็นแมลงปีกแข็งขนาดปานกลางมีสีน้ำตาลปนแดง อยู่ในวงศ์ Tenebrionidae มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Tribolium castancum (Herbst) พบในมะขามหวานหลายพันธุ์ แต่ไม่ใช่แมลงหลักที่ทำลายมะขามหวานแต่มีโอกาสพบได้บ้างในระหว่างการเก็บรักษา แมลงชนิดนี้อาจพบได้ในผลิตภัณฑ์ของธัญพืชชนิดอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ได้แก่ เมล็ดข้าว ผลิตภัณฑ์แป้งจากธัญพืชต่าง ๆ รำข้าว และผลไม้แห้ง |
|
มอดแป้งในมะขามหวานพันธ์ประกายทอง |
|
แมลงปีกแข็งชนิดอื่น ๆ ยังพบแมลงปีกแข็งชนิดอื่น ๆ อีกหลายชนิดในมะขามหวาน แต่ไม่สามารถจำแนกจนทราบชื่อวิทยาศาสตร์ ทราบแต่ชื่อวงศ์เท่านั้นคือ Tenebrionidae จึงนำรูปมาแสดงให้ดูในที่นี้ |
|
|
แมลงในวงศ์ Tenebrionidae ที่พบในมะขามหวานพันธุ์ต่าง ๆ |
|
เอกสารอ้างอิง
|
- ยุทธพงศ์ ประชาสิทธิศักดิ์ และ วชิรา พริ้งศุลกะ (2537) การใช้วิธีการฉายรังสีแกมมาลดการสูญเสียของมะขามหวานระหว่างการเก็บรักษา การประชุมวิชาการไม้ผลแห่งชาติ ครั้งที่ 1 จ. ระยอง วันที่ 2-5 สิงหาคม 2537 หน้า 296-313
- ยุทธพงศ์ ประชาสิทธิศักดิ์ และวชิรา พริ้งศุลกะ (2539) การศึกษาเปรียบเทียบลักษณะทั่วไปของมะขามหวานพันธุ์ที่นิยมปลูกเพื่อการค้าในประเทศไทย การประชุมวิชาการไม้ผลแห่งชาติครั้งที่ 2 ณ อ. หาดใหญ่ จ. สงขลา วันที่ 20-23 ส.ค. 2539 หน้า 148-159
|
|