ข้าวพันธุ์กลายกรดไฟติกต่ำสำหรับผู้ขาดธาตุอาหาร |
กนกพร บุญศิริชัย วไลลักษณ์ แพทย์วิบูลย์ และวิชัย ภูริปัญญวานิช
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
|
มนุษย์เราต้องการธาตุอาหารเพื่อการดำรงสุขภาพ ธัญพืช เช่น ข้าวและข้าวโพด มักสะสมธาตุฟอสฟอรัสในเมล็ดในรูปของกรดไฟติก ซึ่งระบบทางเดินอาหารของคนเราไม่สามารถย่อยและดูดซึมมาใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้นักวิชาการหลายท่านจัดกรดไฟติกเป็น ตัวต้านสารอาหาร (anti-nutrient) โดยกรดไฟติกสามารถจับกับไอออนของธาตุที่มีประจุ 2+ และ 3+ เช่น เหล็ก แคลเซียม แมกนีเซียม และ สังกะสี ในสภาวะที่เป็นกรดอ่อน ๆ เช่น ในลำไส้ของเรา ก่อให้เกิดการตกตะกอนและขับถ่ายออก มีผลให้ธาตุอาหารที่เหลืออยู่เพื่อร่างกายได้ดูดซึมมาใช้ประโยชน์มีปริมาณลดลง
Dr. Victor Raboy นักวิทยาศาสตร์จาก Small Grains and Potato Germplasm Research Unit, Agricultural Research Service ณ เมือง Aberdeen มลรัฐไอดาโฮ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ซึ่งมีปริมาณกรดไฟติกต่ำในเมล็ดโดยใช้เทคนิคการกลายพันธุ์ เขาเรียกข้าวสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า KBNT lpa1-1 (จาก Kaybonnet low-phytic-acid gene 1) เมล็ดข้าวพันธุ์ใหม่นี้มีปริมาณกรดไฟติกต่ำกว่าเมล็ดข้าวพันธุ์เดิมถึง 45 เปอร์เซ็นต์ และมีธาตุฟอสฟอรัสคงเหลือเพื่อการย่อยและดูดซึมโดยร่างกายมนุษย์มากขึ้นกว่าพันธุ์เดิม |
|
|
|
บน: ข้าว Kaybonnet พันธุ์กลาย มีปริมาณกรดไฟติกต่ำ ซึ่งได้รับการถ่ายยีนให้เปลือกข้าว มีสีเหลืองทอง กลาง: ข้าว Kaybonnet พันธุ์กลาย มีปริมาณกรดไฟติกต่ำ ล่าง: ข้าว Kaybonnet พันธุ์เดิม
รูปจาก Jim Core. 2002. Agricultural Research September 2002: 14-15. |
|
งานวิจัยที่ต้องเดินหน้าในขั้นต่อไปคือ การแสดงให้เห็นว่าผู้ที่บริโภคข้าว KBNT lpa1-1 สามารถดูดซึมธาตุอาหารได้ มากกว่าผู้ที่บริโภคข้าว Kaybonnet พันธุ์เดิม ในสหรัฐอเมริกา มีการศึกษาวิจัยที่คล้ายคลึงกัน โดยใช้ข้าวโพดพันธุ์กลายซึ่งมีปริมาณกรดไฟติกต่ำ เมื่อเปรียบเทียบการดูดซึมธาตุอาหาร ของกลุ่มผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากข้าวโพดพันธุ์นี้ กับกลุ่มผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากข้าวโพดพันธุ์เดิม พบว่า กลุ่มผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากข้าวโพดพันธุ์กลาย มีการดูดซึมธาตุเหล็ก มากกว่ากลุ่มผู้บริโภคผลิตภัณฑ์จากข้าวโพดพันธุ์เดิมถึง 50 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นไปได้ที่ข้าว KBNT lpa1-1 จะให้ผลการทดลองเช่นเดียวกัน
ประเทศไทยเองก็มีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่มีประมาณกรดไฟติกต่ำในเมล็ดโดยใช้เทคนิคการกลายพันธุ์ด้วยรังสี นักวิจัยจากกรมการข้าว นายรังสิต เส็งหะพันธุ์ และคณะ ใช้รังสีแกมมาชักนำให้เกิดการกลายในข้าวสุพรรณบุรี 1 และพันธุ์อื่น ๆ สามารถคัดเลือกได้สายพันธุ์ที่มีปริมาณฟอสเฟต (อนินทรีย์) สูงกว่าพันธุ์เดิม ซึ่งบ่งบอกถึงปริมาณกรดไฟติกที่ต่ำลง แต่ยังต้องมีการศึกษากันต่อไปว่าข้าวสายพันธุ์ใหม่นี้จะมีปริมาณกรดไฟติกลดลงจากพันธุ์เดิมสักเท่าใด และจะมีผลต่อการดูดซึมธาตุอาหารของผู้บริโภคมากเพียงใด |
|
|
|
ซ้าย: ข้าวสุพรรณบุรี 1 พันธุ์เดิม ขวา: ข้าวสุพรรณบุรี 1 พันธุ์กลาย มีปริมาณฟอสเฟต (อนินทรีย์) สูงกว่าพันธุ์เดิม ซึ่งหมายถึงปริมาณกรดไฟติกที่ต่ำลง |
|
อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่นั้นเป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้กรดไฟติกจะมีผลเสียต่อการดูดซึมธาตุอาหารที่สำคัญบางชนิด และข้าวที่มีกรดไฟติกต่ำ อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้มีปริมาณธาตุเหล็กต่ำในเลือด หรือผู้มีภาวะโลหิตจาง งานวิจัยหลายชิ้นแสดงว่า กรดไฟติกยังมีสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและต้านมะเร็ง นอกจากนี้การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า กรดไฟติกมีศักยภาพในการลดปริมาณน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อผู้ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน จึงเห็นได้ว่ากรดไฟติกมีทั้งโทษและประโยชน์เฉกเช่นเดียวกับสารอาหารอื่น ๆ อีกหลายชนิด ดังนั้นการรู้จักประมาณในการบริโภค รวมทั้งการรับประทานอาหารให้หลากหลาย และครบหมวดหมู่ เพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งสำหรับบุคคลทั่วไปเพื่อการมีสุขภาพที่ดี |
|