วัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ส่วนหน้า (Front End of Nuclear Fuel Cycle)

อาภรณ์ บุษมงคล
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

วัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ (nuclear fuel cycle) แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ วัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ส่วนหน้า (front end of nuclear fuel cycle) และวัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ส่วนหลัง (back end of nuclear fuel cycle) ในที่นี้จะกล่าวถึงวัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ส่วนหน้า

วัฏจักรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ส่วนหน้า หมายถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนที่เชื้อเพลิงจะถูกนำไปใช้ในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

1.
การสำรวจและทำเหมืองแร่ยูเรเนียม (uranium exploration and mining) ยูเรเนียมพบอยู่ในเปลือกโลกทั้งในหินแกรนิต หินชั้น และในแร่ชนิดต่าง ๆ ในการสำรวจแหล่งแร่ยูเรเนียมนั้น เป็นการค้นหาบริเวณที่มีความเข้มข้นของยูเรเนียม สูงพอที่จะนำมาใช้ทำเชื้อเพลิงได้ โดยทั่วไปก็กระทำเหมือนกับการสำรวจแร่อื่น ๆ เช่น ใช้วิธีสำรวจทางด้านธรณีวิทยา การนำตัวอย่างดินมาวิเคราะห์ การวัดปริมาณรังสี การขุดเจาะตัวอย่างมาวัดสมบัติทางฟิสิกส์ และการศึกษาจากรูปถ่ายทางอากาศ เมื่อมีการสำรวจพบบริเวณที่มีแร่ยูเรเนียมแล้ว ก็จะมีการทำเหมืองแร่โดยการขุดแร่ขึ้นมา แล้วทำให้แตกออกเป็นก้อนเล็ก ๆ ลงเพื่อสะดวกต่อการขนส่ง ในการทำเหมืองแร่ยูเรเนียมนั้น ถ้าเหมืองตั้งอยู่บนพื้นผิวดิน เรียกว่า เหมืองเปิด (openpit mine) แต่ถ้าเหมืองอยู่ลึกลงไปใต้ดิน เรียกว่า เหมืองใต้ดิน (underground mine)
2.
การบดและการทำให้บริสุทธิ์ (milling and refining) เป็นกระบวนการที่ทำให้ปริมาณยูเรเนียมเข้มข้นสูงขึ้น โดยนำแร่มาบดให้ละเอียด นำมาละลายในกรดหรือด่างเพื่อให้ชะละลาย (leaching) ยูเรเนียมออกจากแร่ ยูเรเนียมจะละลายออกมาอยู่ในสารละลาย จากนั้นจึงนำสารละลายมาสกัดยูเรเนียมออก โดยกระบวนการสกัดด้วยตัวทำละลาย (solvent extraction) หรือการแลกเปลี่ยนไอออน (ion exchange) แล้วนำสารละลายที่ได้มาตกตะกอนยูเรเนียมออกมาด้วยแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ โซเดียมไฮดรอกไซด์ แอมโมเนียมไฮดรอกไซด์หรือเปอร์ออกไซด์ ตะกอนที่ได้ในขั้นสุดท้ายนี้จะมีลักษณะเป็นผงสีเหลือง เรียกว่า เค้กเหลือง (yellow cake) ซึ่งจะมียูเรเนียมออกไซด์ (U3O8) อยู่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป
3.
การเปลี่ยนรูปยูเรเนียม (uranium conversion) เป็นกระบวนการในการเปลี่ยนเค้กเหลือง ให้อยู่ในรูปของยูเรเนียมเฮกซะฟลูออไรด์ (UF6) เนื่องจากยูเรเนียมที่จะนำไปใช้ประกอบเป็นเชื้อเพลิง ต้องมีความบริสุทธิ์ทางเคมีสูงมาก และการที่จะให้ได้ยูเรเนียมที่มีความบริสุทธิ์ทางเคมีสูงเช่นนี้ จะต้องนำเค้กเหลืองมาสกัดด้วยตัวทำละลายใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยการนำเอาเค้กเหลืองมาละลายด้วยกรด แล้วสกัดด้วยตัวทำละลาย จะทำให้สามารถแยกยูเรเนียมออกมาอยู่ในสารละลาย หลังจากนั้นนำไปทำปฏิกิริยาต่อกับกรดไฮโดรฟลูออริก (HF) จะได้ยูเรเนียมเททระฟลูออไรด์ (UF4) และเมื่อให้ทำปฏิกิริยาต่อกับแก๊สฟลูออรีน (F2) จะได้ยูเรเนียมเฮกซะฟลูออไรด์ (UF6) ซึ่ง UF6 นี้สามารถอยู่ในสถานะ ของแข็ง ของเหลว และแก๊สก็ได้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ถ้าที่อุณหภูมิสูงกว่า 65 องศาเซลเซียสขึ้นไป UF6 จะอยู่ในสถานะแก๊สซึ่งสามารถนำไปผ่านกระบวนการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมต่อไปได้
กระบวนการทำยูเรเนียมให้บริสุทธิ์และการเปลี่ยนรูปยูเรเนียม
4.
การเสริมสมรรถนะยูเรเนียม (uranium enrichment) เป็นกระบวนการในการแยกไอโซโทปยูเรเนียม-235 ออกจากยูเรเนียม-238 และทำให้ยูเรเนียม-235 เข้มข้นสูงกว่าในธรรมชาติ ขั้นตอนนี้ใช้เฉพาะสำหรับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ใช้เชื้อเพลิงที่มีความเข้มข้นของยูเรเนียม-235 สูงกว่าในธรรมชาติเท่านั้น โดยปกติในธรรมชาติจะมียูเรเนียม-235 ประมาณ 0.71 เปอร์เซ็นต์ เมื่อผ่านกระบวนการเสริมสมรรถนะแล้วจะได้ยูเรเนียมเข้มข้นสูงขึ้นถึง 2-5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนำไปใช้กับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำมวลเบา (light-water Reactor) ส่วนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ผลิตเชื้อเพลิง (fast breeder reactor) และเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย (research reactor) บางชนิดนั้นต้องใช้ยูเรเนียม-235 สมรรถนะสูง 20-90 เปอร์เซ็นต์
5.
การประกอบแท่งเชื้อเพลิง (fuel fabrication) เป็นกระบวนการในการประกอบเเท่งเชื้อเพลิง หลังจากกระบวนการเสริมสมรรถนะแล้วจะต้องเปลี่ยนยูเรเนียมเฮกซะฟลูออไรด์ให้เป็น ยูเรเนียมออกไซด์ (UO2) ซึ่งสามารถนำไปอัดเป็นเม็ดเพื่อใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงต่อไป ลักษณะของเม็ดเชื้อเพลิงนั้นจะเป็นรูปทรงกระบอก มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ยาว 1.5 เซนติเมตร ในเม็ดเชื้อเพลิงจะประกอบด้วยผงยูเรเนียมออกไซด์ซึ่งอัดให้เป็นเม็ดด้วยกรรมวิธี cold pressing และนำไปเผาเพื่อให้อยู่ตัว หลังจากนั้นจึงนำเม็ดของ UO2 ไปใส่ในท่อโลหะผสมเซอร์โคเนียม (zirconium alloy) แล้วนำไปประกอบรวมกันเป็นชุดเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ (fuel assemblies) สำหรับทำเป็นเชื้อเพลิงในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ต่อไป