แหนมฉายรังสี : อาหารฉายรังสีชนิดแรกที่คนไทยรู้จัก |
ยุทธพงศ์ ประชาสิทธิศักดิ์
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
|
คำนำ
ถ้ามีผู้ถามว่าอาหารฉายรังสีชนิดแรกของประเทศไทยคืออะไร คงจะมีคนให้คำตอบแตกต่างกันออกไปหลายอย่าง บางคนอาจตอบว่าหอมหัวใหญ่ หรือไม่ก็บอกว่ากุ้งแช่แข็ง หรือจะเป็นไก่แช่แข็งก็ได้ หรือตอบไม่ถูกเลยว่าเป็นอาหารชนิดใดเพราะไม่เคยรู้จักอาหารฉายรังสีมาก่อนก็ได้ เรื่องนี้ต้องดูว่าอาหารฉายรังสีที่ว่านั้นคนไทยรู้จักมากน้อยเพียงใด ประเทศไทยเริ่มมีการทดลองขายอาหารฉายรังสีเมื่อประมาณปี พ. ศ. 2515 เป็นการทดลองขายหอมหัวใหญ่ฉายรังสีให้กับประชาชน ตามมาด้วยกุ้งแช่แข็งและไก่แช่แข็งเมื่อปี พ. ศ. 2527 และ 2528 ตามลำดับ แต่อาหารฉายรังสีที่กล่าวมานี้เป็นแค่การทดลองขายในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่ได้มีการขายต่อเนื่องกันไปจนมีเอกชนมารับไปดำเนินการต่อในเชิงพาณิชย์ จึงไม่อาจนับเป็นอาหารฉายรังสีที่คนไทยรู้จักจริงและไม่มีการขายกันอีกในปัจจุบัน ดังนั้น อาหารฉายรังสีที่นับได้ว่าเป็นอาหารชนิดแรกที่คนไทยรู้จักกันจริง ๆ คือ แหนมฉายรังสี |
|
|
แหนมอาบรังสี ปี พ. ศ. 2529 |
การจัดเรียงแหนมอาบรังสีในศูนย์การค้ามาบุญครอง |
|
แหนมฉายรังสีเป็นผลงานวิจัยของกองวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นการใช้รังสีเพื่อทำลายเชื้อโรคท้องร่วงซัลโมเนลลาในแหนม(1) งานวิจัยนี้ดำเนินการสำเร็จมาตั้งแต่ ปี พ. ศ. 2517 แต่ไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์ต่อแต่อย่างใด จนถึงปี พ. ศ. 2529 จึงได้มีการศึกษาวิจัยต่อยอดในเรื่องอายุการเก็บและทดลองวางจำหน่ายเพื่อศึกษาการยอมรับของผู้บริโภค พบว่าแหนมฉายรังสีสามารถเก็บไว้ได้นานประมาณ 10-12 วัน ที่อุณหภูมิห้อง และประมาณ 2 เดือนที่อุณหภูมิตู้เย็น(2)
การทดลองวางจำหน่ายแหนมอาบรังสี
แหนมฉายรังสีเริ่มทดลองขายให้กับประชาชนต้นปี พ. ศ. 2529 ซึ่งในขณะนั้น มีชื่อเรียกว่า แหนมอาบรังสี การขายค่อนข้างยากมาก เพราะเป็นของใหม่ที่ไม่เคยมีขายในประเทศไทยมาก่อน เคยนำไปลองวางขายที่ตลาดสวนจตุจักร แต่ขายไม่ได้เลย สถานที่ขายแหนมอาบรังสีได้เป็นครั้งแรกคือโรงพยาบาลราชวิถี โดยขายให้กับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ภายในโรงพยาบาล ต่อมาจึงเริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มบุคลากรของโรงพยาบาลต่าง ๆที่อยู่บริเวณใกล้เคียง เช่น โรงพยาบาลเด็ก และโรงพยาบาลพระมงกุฎ จากนั้นจึงได้ขยายไปวางขายในศูนย์การค้าต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร |
|
|
การขายแหนมฉายรังสีในศูนย์การค้ามาบุญครอง |
การจำหน่ายแหนมฉายรังสีในศูนย์การค้าอิมพีเรียล |
|
การยอมรับของผู้บริโภคที่มีต่อแหนมอาบรังสี
แหนมอาบรังสีที่นำไปวางขายตามที่ต่าง ๆ จะมีฉลากแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่าเป็นแหนมที่ผ่านการอาบรังสีมาแล้ว พร้อมทั้งแนบใบสอบถามความคิดเห็นเพื่อให้ผู้ที่ซื้อแหนมอาบรังสีไปบริโภคแล้วตอบกลับมา นอกจากนี้ยังได้ทดลองขายเปรียบเทียบกันระหว่างแหนมอาบรังสีกับแหนมไม่อาบรังสีในศูนย์การค้ามาบุญครอง โดยขายแหนมอาบรังสีราคาท่อนละหรือพวงละ 13 บาท ส่วนแหนมไม่อาบรังสีขายราคาท่อนละหรือพวงละ 12 บาท การขายเปรียบเทียบดำเนินไปได้ประมาณ 3 เดือน ทางศูนย์การค้าฯ มาแจ้งให้หยุดขายแหนมไม่อาบรังสีเพราะขายได้น้อยกว่าแหนมอาบรังสีมาก จากการตรวจสอบยอดขายพบว่าแหนมอาบรังสีขายได้มากกว่าแหนมไม่อาบรังสีถึง 10 เท่า ทั้ง ๆ ที่ขายราคาแพงกว่า 1 บาท ต่อท่อนหรือต่อพวง
จากใบสอบถามที่ได้รับตอบกลับมาจากผู้ที่ซื้อแหนมอาบรังสีไปบริโภคแล้วจำนวน 138 ราย พบว่า ร้อยละ 94.9 ของผู้ตอบบอกว่าจะซื้อแหนมอาบรังสีอีก ร้อยละ 95.7 แจ้งว่ายินดีซื้อแหนมอาบรังสี ถ้าราคาแหนมอาบรังสีแพงกว่าแหนมไม่อาบรังสี 1 บาทต่อท่อน และถ้าราคาแหนมอาบรังสีแพงกว่าแหนมไม่อาบรังสี 2 บาทต่อท่อน ผู้ที่ยินดีซื้อแหนมอาบรังสีจะลดลงเหลือร้อยละ 71 ส่วนสาเหตุที่ซื้อแหนมอาบรังสี พบว่าร้อยละ 34.1 แจ้งว่าซื้อเพราะต้องการทดลอง และร้อยละ 65.9 ซื้อเพราะเชื่อว่าปลอดภัยสำหรับบริโภค(3) |
|
|
การจำหน่ายแหนมฉายรังสีในศูนย์การค้าเดอะมอลล์ |
ประชาชนกำลังเลือกซื้อแหนมฉายรังสีในศูนย์การค้า |
|
การขายแหนมฉายรังสีในระยะแรก ๆ ข่าวที่ปรากฏในสื่อต่าง ๆ จะมีผลอย่างมาก เช่น วันไหนมีวิทยุหรือหนังสือพิมพ์ลงข่าวในทางบวกว่า วิธีการฉายรังสีมีความปลอดภัยและเป็นประโยชน์ช่วยในการทำลายเชื้อโรคในอาหาร ผลที่ตามในวันรุ่งขึ้นทันทีคือจะมีโทรศัพท์สั่งให้ไปส่งแหนมฉายรังสีจากศูนย์การค้าต่าง ๆ จำนวนมาก ในทางกลับกันถ้ามีการออกข่าวทางลบกับอาหารฉายรังสี การขายแหนมฉายรังสีจะสะดุดลงในทันทีเช่นกัน ในแต่ละปีจะมีช่วงที่แหนมฉายรังสีขายได้น้อยลงอยู่ 2 ครั้งคือ ช่วงเดือนพฤษภาคมและตุลาคมของทุกปี ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ตอนแรกคิดว่าเกิดจากข่าวการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลและงานเทศกาลกินเจ ต่อมาจึงรู้ว่าเป็นผลจากการเปิดเรียนของโรงเรียนต่าง ๆ ในเทอมที่หนึ่งและเทอมที่สอง ผู้ปกครองมีความจำเป็นต้องประหยัดเงินไว้ใช้เรื่องการเรียนที่มีความสำคัญกว่า ทำให้อาหารประเภทแหนม หมูยอ และไส้กรอกต่าง ๆ ที่ใช้เป็นของกับแกล้มถูกงดซื้อหรือชะลอไปก่อน
สรุป
แหนมฉายรังสีได้วางขายในประเทศไทยมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบปี ปัจจุบันยังคงมีวางขายตามศูนย์การค้าชั้นนำของกรุงเทพมหานคร และในจังหวัดใหญ่ ๆ แหนมฉายรังสีที่ขายอยู่ในปัจจุบันดำเนินการโดยเอกชนนำแหนมมารับบริการฉายรังสีแล้วนำไปวางขายต่อ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าแหนมฉายรังสีเป็นอาหารฉายรังสีชนิดแรกที่คนไทยรู้จัก จนบางครั้งมีการกล่าวว่า พูดถึงสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติจะนึกถึงอะไร อาจได้รับคำตอบว่านึกถึงแหนมฉายรังสี
เอกสารอ้างอิง
- โกวิทย์ นุชประมูล และไพศาล เลาห์เรณู (2517) การอาบรังสีแหนมเพื่อทำลายเชื้อโรคท้องร่วงซัลโมเนลลา THAI AEC-71 สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ
- ยุทธพงศ์ ประชาสิทธิศักดิ์ และจินตนา บุนนาค (2533) การปรับปรุงคุณภาพทางจุลินทรีย์ของแหนมด้วยรังสีแกมมา พปส-1-149 สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ
- Prachasitthisak, Y., V. Pringsulaka and S. Chareon. (1989). Consumer acceptance of irradiated Nham (Fermented pork sausages). Food irradiation Newsletter 13(1), IAEA, Vienna.
|
|