การฉายรังสีอาหารและการยอมรับ |
ยุทธพงศ์ ประชาสิทธิศักดิ์
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
|
คำนำ
การฉายรังสีอาหารเป็นกระบวนการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง โดยนำอาหารไปรับรังสีจากต้นกำเนิดรังสี เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งของการฉายรังสี ซึ่งได้แก่ การฉายรังสีอาหารเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ที่ทำให้เกิดโรค ยืดอายุการเก็บรักษา ชะลอการสุก ยับยั้งการงอกระหว่างการเก็บรักษา ทำลายและยับยั้งการแพร่พันธุ์ของแมลง หรืออื่น ๆ ในทางกฎหมายกำหนดว่า การฉายรังสีอาหาร ต้องมีปริมาณรังสีต่ำสุด ที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการฉายรังสี และมีปริมาณรังสีสูงสุด อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีคุณค่าทางโภชนาการ และยังมีรสชาติเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค(1)
รังสีที่อนุญาตให้ใช้ฉายอาหารได้ตามประกาศกระทรวงสาธารณะสุข (ฉบับที่ 297) พ. ศ. 2549 ได้แก่ รังสีแกมมา (g-rays) ซึ่งได้จากโคบอลต์-60 (Co-60) หรือซีเซียม-137 (Cs-137) รังสีเอกซ์ (X-rays) ที่ได้จากเครื่องผลิตรังสีเอกซ์ และรังสีอิเล็กตรอนที่ได้จากเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอน เป็นต้น รังสีเป็นพลังงานชนิดหนึ่งโดยเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มีอำนาจทะลุทะลวงผ่านวัตถุได้สูง เมื่อผ่านไปในตัวกลางใดจะไม่ทำให้ตัวกลางนั้นเปลี่ยนเป็นสารรังสี ดังนั้น อาหารที่ผ่านการฉายรังสีจึงไม่มีรังสีตกค้างและไม่มีการสะสมของรังสีขึ้น อย่างไรก็ตาม มีอาหารบางชนิด ที่ไม่สามารถนำมาฉายรังสีได้ เพราะจะทำให้เกิดกลิ่นและรสชาติไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค เช่น อาหารประเภทนมและผลิตภัณฑ์ของนม |
|
|
สตรอเบอร์รี่ฉายรังสี |
การฉายรังสีเพื่อชะลอการสุกและลดการเน่าเสียของมะม่วง |
|
ในเรื่องการฉายรังสีอาหาร มีคำที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่ามีความหมายเดียวกันกับอาหารฉายรังสีคือ อาหารปนเปื้อนรังสีหรือสารรังสี คำนี้มีความหมายแตกต่างกับอาหารฉายรังสีอย่างมาก กล่าวคือ อาหารปนเปื้อนรังสีหรือสารรังสี เป็นอาหารที่มีสารต้นกำเนิดรังสีปะปนอยู่ในอาหาร อาหารดังกล่าวจะเป็นอันตรายต่อผู้ที่บริโภคเข้าไป เพราะสารรังสีจะไปสะสมอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและปล่อยรังสีออกมาตลอดเวลา ทำให้ร่างกายได้รับรังสีและมีโอกาสเป็นมะเร็งขึ้นได้ ดังนั้นอาหารปนเปื้อนรังสีจึงเป็นอาหารที่มีอันตรายไม่ควรนำมาบริโภค การปนเปื้อนอาจมาจากการเกิดอุบัติเหตุทางรังสี เช่น การเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ทำให้มีสารรังสีฟุ้งกระจายออกมาภายนอก สารรังสีเหล่านี้จะกระจายไปยังพื้นดินและต้นหญ้าที่ขึ้นอยู่ในบริเวณนั้น เมื่อวัวกินหญ้าเข้าไปสารรังสีจะไปอยู่ที่ตัววัวและไปสู่น้ำนมของวัวในที่สุด
วัตถุประสงค์ของการฉายรังสีอาหาร ปัจจุบัน กฎหมายอาหารฉายรังสี จะกำหนดวัตถุประสงค์ของการฉายรังสีอาหาร แทนการกำหนดชนิดของอาหารที่อนุญาตให้ฉายรังสี วัตถุประสงค์ของการฉายรังสีหมายถึง ความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่ง ในการนำอาหารไปรับรังสีจากต้นกำเนิดรังสี ตามที่มีกำหนดไว้ในกฎหมาย วัตถุประสงค์ของการฉายรังสี มีหลายประการด้วยกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารและผลของรังสีที่มีต่ออาหารชนิดนั้น ๆ ได้แก่ |
1. |
การฉายรังสีเพื่อลดปริมาณจุลินทรีย์ และกำจัดจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค เป็นการนำอาหารไปรับรังสีเพื่อทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคซึ่งปนเปื้อนในอาหาร เช่น
แหนม ฉายรังสีปริมาณ 2 กิโลเกรย์ เพื่อทำลายเชื้อโรคท้องร่วง ซัลโมเนลลา(2)
เนื้อไก่แช่แข็ง ฉายรังสีปริมาณ 2 กิโลเกรย์ กำจัดเชื้อโรคท้องร่วง ซัลโมเนลลาได้หมด (3)
ปลาป่น ใช้รังสีปริมาณ 5 กิโลเกรย์ เพียงพอที่จะลดปริมาณจุลินทรีย์ และกำจัดเชื้อซัลโมเนลลา และอาริโซนาได้หมด(4) |
2. |
การฉายรังสีอาหารเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา โดยรังสีจะไปทำลายจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดการเน่าเสีย ซึ่งเป็นผลให้สามารถยืดอายุการเก็บรักษาอาหารให้ได้นานขึ้นกว่าเดิม วัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ สามารถใช้ได้กับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ปีกหรือพวกอาหารทะเลก็ได้ ได้แก่ |
|
เนื้อหมู |
ฉายรังสีปริมาณ 2 กิโลเกรย์ เก็บที่อุณหภูมิตู้เย็น สามารถเก็บได้นานกว่า เนื้อหมูที่ไม่ฉายรังสี 2 เท่า(5) |
เนื้อไก่สด |
ฉายรังสีปริมาณ 1 กิโลเกรย์ เก็บที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส เก็บได้นานกว่าเนื้อไก่ไม่ฉายรังสี 3 เท่า(6) |
ปลาทูนึ่ง |
ฉายรังสีปริมาณ 2 กิโลเกรย์ เก็บได้นานขึ้นอีก 10 วันเมื่อเทียบกับปลาทูไม่ฉายรังสี(7) |
|
3. |
การฉายรังสีเพื่อชะลอการสุกของผลไม้ ผลไม้อาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ตามลักษณะการสุกคือ ผลไม้ที่สุกกินได้เลยเมื่อเก็บจากต้นได้แก่ ส้ม พุทรา กับพวกผลไม้ที่ต้องนำมาบ่ม หรือปล่อยทิ้งไว้ให้สุกก่อนจึงจะกินได้ เช่น กล้วย มะละกอ มะม่วง ผลไม้ที่นำมาฉายรังสี เพื่อชะลอการสุก ต้องเป็นผลไม้กลุ่มที่ต้องบ่ม หรือปล่อยทิ้งไว้ให้สุกก่อนเท่านั้น จึงจะได้ผล ได้แก่ |
|
มะม่วงอกร่อง |
ฉายรังสีปริมาณ 0.4-0.6 กิโลเกรย์ ร่วมกับการจุ่มน้ำร้อน 50 องศาเซลเซียส นาน 3 นาที เก็บที่ 12 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 35 วัน ชะลอการสุกได้ 7 วัน(8) |
มะม่วงทองดำ |
ฉายรังสีปริมาณ 0.6 กิโลเกรย์ เก็บที่ 17 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 25 วัน ชะลอการสุกได้นาน 4 วัน(8) |
กล้วยหอม |
ฉายรังสีปริมาณ 0.3 กิโลเกรย์ สามารถชะลอการสุกให้ช้าลงกว่าพวกไม่ฉายรังสีประมาณ 3-5 วัน(9) |
|
4. |
การฉายรังสีเพื่อยับยั้งการงอกระหว่างการเก็บรักษา เป็นการฉายรังสีอาหาร ที่นำไปใช้กับพืช ประเภทหัวสะสมอาหาร ช่วยลดการสูญเสียของอาหารระหว่างการเก็บรักษา ได้แก่ |
|
หอมหัวใหญ่ |
ฉายรังสีปริมาณ 0.06-0.1 กิโลเกรย์ เก็บที่อุณหภูมิ 2 องศาเซลเซียส สามารถยับยั้งการงอกได้นาน 5-6 เดือน(10) |
มันฝรั่ง |
ฉายรังสีปริมาณ 0.08-0.15 กิโลเกรย์ เก็บที่อุณหภูมิ 10-15 องศาเซลเซียส สามารถยับยั้งการงอกได้ วิธีการนี้เหมาะที่จะนำไปใช้กับมันฝรั่งที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารขบเคี้ยว(11,12) |
|
|
|
การยับยั้งการงอกของหอมหัวใหญ่ด้วยการฉายรังสี |
การยับยั้งการงอกของมันฝรั่งด้วยการฉายรังสี |
|
5. |
การฉายรังสีอาหารเพื่อทำลายและยับยั้งการแพร่พันธุ์ของแมลง การฉายรังสีเพื่อกำจัดแมลง อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ทาง ตามลักษณะการทำลายคือ |
|
การทำลายแมลงทางตรง เป็นการนำอาหาร หรือผลิตภัณฑ์ ที่มีแมลงปนเปื้อน ไปรับรังสีโดยตรง แมลงจะถูกทำลายด้วยรังสีทันทีไม่ว่าจะอยู่ในระยะใดของการเจริญ เช่น เครื่องเทศชนิดต่าง ๆ ข้าวสาร ถั่วเขียว ถั่วเหลือง และมะขามหวาน |
การทำลายโดยทางอ้อม เป็นการนำแมลงมาเลี้ยงให้ได้จำนวนมาก ๆ แล้วนำไปฉายรังสีเพื่อให้เป็นหมัน จากนั้นปล่อยให้ไปแย่งผสมพันธุ์กับแมลงที่อยู่ในธรรมชาติ วิธีนี้จะทำให้แมลงออกไข่มาแล้วไม่อาจฟักเป็นตัวได้ จะทำให้ประชากรแมลงลดจำนวนลงในรุ่นถัดไป |
|
|
|
การทำลายและยับยั้ง การแพร่พันธุ์ของแมลง
ด้วยการฉายรังสี |
การชะลอการบานของเห็ดด้วยการฉายรังสี |
|
6. |
การฉายรังสีอาหารเพื่อชะลอการบานของเห็ด มีงานวิจัยเกี่ยวกับการฉายรังสี ทำให้ชะลอการบานของเห็ดได้ เช่น |
|
เห็ดฟาง พบว่าเห็ดฟางฉายรังสีปริมาณ 1 กิโลเกรย์ เก็บที่อุณหภูมิ 17 องศาเซลเซียส สามารถชะลอการบานของเห็ดและเก็บได้นาน 4 วัน โดยเห็ดยังคงมีสภาพเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง(13) |
7. |
การฉายรังสีอาหารเพื่อกำจัดพยาธิ เป็นการใช้วิธีการฉายรังสีทำลายพยาธิในเนื้อสัตว์ ทั้งเนื้อสัตว์ที่เป็นสัตว์บกหรือสัตว์น้ำก็ได้ วิธีการนี้เป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้ที่นิยมบริโภคเนื้อดิบ เพราะสามารถทำลายได้ทั้งพยาธิและจุลินทรีย์ที่ก่อโรค โดยที่อุณหภูมิของเนื้อสัตว์ไม่เปลี่ยนแปลง เนื้อสัตว์ยังคงเป็นเนื้อดิบเหมือนเดิม แต่เป็นเนื้อที่ปลอดจากพยาธิและจุลินทรีย์ที่ก่อโรคแล้ว ได้แก่ |
|
การฉายรังสีเพื่อกำจัดพยาธิตัวจี๊ดในปลา (Gnathostoma spinigerum) ต้องใช้ปริมาณรังสีสูงถึง 8 กิโลเกรย์(14)
การฉายรังสีเพื่อกำจัดพยาธิใบไม้ตับ (Opisthorchis viverrini และ Clonorchis sinensis) ในปลาน้ำจืดโดยใช้รังสีปริมาณ 0.6 กิโลเกรย์(15) การฉายรังสีเพื่อกำจัดพยาธิตัวกลมเล็ก ๆ Trichina (Trichinella spiralis) ที่ทำให้เกิดโรค Trichinosis ในเนื้อหมู ใช้รังสีปริมาณ 0.3 กิโลเกรย์(16) |
|
ข้อจำกัดของเทคโนโลยีการฉายรังสีอาหาร
วิธีการฉายรังสีอาหารมีข้อจำกัดเช่นเดียวกันกับวิธีการถนอมอาหารอื่น ๆ คือ ไม่สามารถใช้ได้กับอาหารทุกประเภทเพราะจะเกิดปัญหาในเรื่องรสชาติที่เปลี่ยนไปภายหลังการฉายรังสี ได้แก่ |
- นำไปใช้กับอาหารประเภทนมและผลิตภัณฑ์ของนมไม่ได้ เพราะจะทำให้เกิดกลิ่นและรสชาติไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
- การฉายรังสีอาจมีผลทำให้เนื้อสัมผัสของผลไม้บางชนิดนิ่มลง ไม่กรอบ เช่น สาลี่ แอปเปิล
- นำไปใช้ยืดอายุการเก็บรักษามะเขือเทศไม่ได้ เพราะรังสีจะไปยับยั้งกระบวนการพัฒนาสีแดงของมะเขือเทศ ทำให้มะเขือเทศไม่สามารถเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มได้ จึงไม่เหมาะที่จะใช้กับอุตสาหกรรมทำซอสมะเขือเทศ
|
|
|
การขายแหนมอาบรังสีใน
ศูนย์การค้ามาบุญครอง |
การจำหน่ายมะขามหวานฉายรังสีในศูนย์การค้า |
|
การยอมรับอาหารฉายรังสี เรื่องการยอมรับอาหารฉายรังสี ได้มีการทดลองนำอาหารฉายรังสี วางจำหน่ายให้กับผู้บริโภค โดยมีฉลากแจ้งให้ทราบว่า เป็นอาหารที่ผ่านการฉายรังสีมาแล้ว การทดลองพบว่าประชาชนให้การยอมรับดีและอาหารบางประเภทได้รับความนิยมค่อนข้างสูง ปัจจุบัน มีประเทศที่ประกาศยอมรับอาหารฉายรังสีแล้วมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมีการทดลองวางจำหน่ายอาหารฉายรังสีหลายชนิดด้วยกัน บางชนิดได้รับความนิยมมากจนมีการจำหน่ายเช่นเดียวกับอาหารประเภทอื่น ๆ ทั่วไป
แหนมฉายรังสี การฉายรังสีแหนมเพื่อกำจัดเชื้อโรคท้องร่วงซัลโมเนลลา และปรับปรุงคุณภาพด้านจุลินทรีย์ของแหนม(2,17) แหนมฉายรังสีเริ่มวางจำหน่ายครั้งแรกที่โรงพยาบาลราชวิถีเมื่อปี พ. ศ. 2529 ต่อมาได้ขยายออกไปจำหน่ายในศูนย์การค้ามาบุญครองและศูนย์การค้าชั้นนำต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ มีการจำหน่ายเปรียบเทียบระหว่างแหนมฉายรังสีกับแหนมไม่ฉายรังสีนาน 11 สัปดาห์ พบว่าแหนมฉายรังสีขายได้มากกว่าแหนมไม่ฉายรังสีถึง 10 เท่า ทั้ง ๆ ที่แหนมฉายรังสีขายราคาแพงกว่า 1 บาท จากใบสอบถามความคิดเห็นที่ได้รับตอบกลับมาพบว่า 94.9% ของผู้ตอบบอกว่า จะซื้อแหนมฉายรังสีอีก 95.7% แจ้งว่า ยินดีซื้อแหนมฉายรังสี ถ้าราคาแพงกว่าแหนมไม่ฉายรังสี 1 บาท(18)
มะขามหวานฉายรังสี นำมะขามหวานไปลดความชื้น แล้วนำไปฉายรังสีปริมาณ 1 กิโลเกรย์ สามารถควบคุมเชื้อราและกำจัดแมลงที่อาจติดมาในฝักได้หมด พบว่ามะขามหวานฉายรังสีเก็บรักษาได้นานกว่า 8 เดือน โดยยังมีคุณภาพด้านประสาทสัมผัสเป็นที่ยอมรับของผู้ชิม(19)
การทดลองวางจำหน่ายมะขามหวานฉายรังสีในศูนย์การค้าชั้นนำของกรุงเทพฯ พบว่าผู้บริโภคให้การยอมรับดี มะขามหวานฉายรังสีจำหน่ายได้ในราคาค่อนข้างสูงถึง 200 บาทต่อกิโลกรัม จากใบสอบถามที่ได้รับตอบกลับมาแสดงให้เห็นว่า ผู้ตอบส่วนใหญ่ (97.9%) พอใจคุณภาพของมะขามหวานฉายรังสีในเรื่องปัญหาจากแมลงและเชื้อรา 74.5% แจ้งว่ายินดีจะซื้อมะขามหวานฉายรังสีอีก(20) |
|
|
การจำหน่ายสตรอเบอร์รีในฝรั่งเศส |
เนื้อไก่ฉายรังสีในสหรัฐอเมริกา |
|
การยอมรับอาหารฉายรังสีในประเทศต่าง ๆ การทดลองเรื่องการยอมรับของผู้บริโภคที่มีต่ออาหารฉายรังสี นอกจากดำเนินการในประเทศไทยแล้ว ยังมีการทดลองทำนองเดียวกันในอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ทั้งในกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา ได้แก่
การวางจำหน่ายสตรอเบอร์รี่ฉายรังสีในประเทศฝรั่งเศส
โดยสตรอเบอร์รีฉายรังสี จำหน่ายราคาสูงกว่าพวกไม่ฉายรังสี 30 เปอร์เซ็นต์ การทดลองพบว่า สตรอเบอร์รี่ฉายรังสี จำหน่ายได้ดีกว่าสตรอเบอร์รี่ไม่ฉายรังสี เพราะมีคุณภาพดีกว่าและเก็บได้นานกว่า(21)
การจำหน่ายมะละกอและเนื้อไก่ฉายรังสีในสหรัฐอเมริกา
ปี พ. ศ. 2530 มะละกอจากหมู่เกาะฮาวายส่งมาฉายรังสีที่ Los Angeles ปริมาณรังสี 0.41-0.51 กิโลเกรย์ การทดลองพบว่ามะละกอฉายรังสีขายดีกว่ามะละกอไม่ฉายรังสีในอัตราส่วน 11:1 เพราะมะละกอฉายรังสีมีสภาพและรสชาติดีกว่ามะละกอที่เก็บขณะยังเขียวแล้วจุ่มน้ำร้อน(22) นอกจากนี้ ได้มีการทดลองวางจำหน่ายเนื้อไก่ฉายรังสีพร้อมทั้งมีฉลากติดแสดงให้ผู้บริโภคทราบในซูเปอร์มาร์เก็ต |
|
|
การจำหน่ายเนื้อไก่ฉายรังสีในสหรัฐอเมริกา |
การจำหน่ายอาหารฉายรังสีในแอฟริกาใต้ |
|
การจำหน่ายอาหารฉายรังสีในประเทศแอฟริกาใต้
แอฟริกาใต้จัดเป็นประเทศที่มีการทดลอง วางจำหน่ายอาหารฉายรังสีในระยะแรก ๆ โดยติดฉลากที่อาหารมีเครื่องหมาย RADURA และมีคำว่า Irradiated หรือ Radurised การจำหน่ายอาหารฉายรังสีประสบผลสำเร็จค่อนข้างมาก ได้แก่ มันฝรั่ง มะม่วง มะละกอ และสตรอเบอร์รี่ ปรากฏว่า 90% ของผู้ซื้อให้การยอมรับอาหารฉายรังสี(23)
สาธารณรัฐประชาชนจีน
เป็นประเทศที่มีการนำเทคโนโลยีการฉายรังสีมาใช้กับอาหารมากที่สุดในโลก มีการทดลองจำหน่ายอาหารฉายรังสีหลายชนิดด้วยกันได้แก่ แอปเปิล(24) เครื่องปรุงรส ผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อ ไวน์จากมันเทศฉายรังสี(23) กระเทียม ข้าว เครื่องเทศ ผักแห้งชนิดต่าง ๆ และอาหารชนิดอื่น ๆ(25) ข้อมูลของการทดลองที่ได้รับมีความน่าสนใจมาก เพราะการทดสอบในแต่ละครั้งมีผู้ร่วมทดสอบเป็นจำนวนมาก จึงเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญของงานด้านอาหารฉายรังสี |
|
สรุป
เทคโนโลยีการฉายรังสีอาหาร เป็นวิธีการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง สามารถนำไปใช้ได้ กับอาหารหลายประเภท ข้อได้เปรียบของวิธีการถนอมอาหารนี้คือ ใช้กำจัดจุลินทรีย์ พยาธิที่ก่อโรค และแมลงในอาหารได้ โดยอุณหภูมิของอาหารไม่เปลี่ยนแปลง อาหารที่ผ่านการฉายรังสีมาแล้ว จะยังคงมีสภาพสดเหมือนเดิม คุณค่าของอาหารมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการถนอมอาหารอื่น ๆ ในเรื่องรสชาติของอาหารฉายรังสี ผู้ชิมไม่สามารถบอกความแตกต่างได้ ถ้ามีการฉายรังสีอาหาร ในปริมาณที่เหมาะสม เรื่องการยอมรับ อาหารฉายรังสีกล่าวได้ว่า อาหารฉายรังสี ได้รับการยอมรับค่อนข้างดี แม้ว่ามนุษย์จะเคยมีความหวาดกลัว ต่อพลังงานนิวเคลียร์มาก่อนก็ตาม แต่คุณประโยชน์ที่ได้รับ จากวิธีการฉายรังสีอาหารนี้ ทำให้มนุษย์เริ่มมีความรู้สึกที่ดี ต่อการนำเอาพลังงานนิวเคลียร์ มาใช้ในทางสันติมากขึ้น กล่าวได้ว่าวิธีการฉายรังสีอาหาร เป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดสารพิษขึ้นในอาหาร ปัจจุบันได้ชื่อว่า เป็นเทคโนโลยีที่สะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงมีการนำเทคโนโลยีนี้ มาใช้ในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น เพื่อเก็บรักษาอาหาร และทำให้อาหารมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น |
การฉายรังสีอาหาร ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน |
|
เอกสารอ้างอิง
- กระทรวงสาธารณสุข ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 297 (พ.ศ. 2549) เรื่อง อาหารฉายรังสี
- โกวิทย์ นุชประมูล และไพศาล เลาห์เรณู (2517) การอาบรังสีแหนมเพื่อทำลายเชื้อโรคท้องร่วงซัลโมเนลลา THAI AEC-71 สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ
- โกวิทย์ นุชประมูล และคณะ (2529) การปรับปรุงคุณภาพทางจุลินทรีย์ของเนื้อไก่แช่แข็งด้วยรังสีแกมมา รายงานวิจัยและพัฒนาเลขที่ พปส.-1-124 สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ กรุงเทพฯ
- บุญเลิศ ศรีสารา (2515) การอาบรังสีปลาป่นเพื่อกำจัด Salmonellae และ Arizonae รายงานวิจัยและพัฒนาเลขที่ THAI. AEC-56 สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ กรุงเทพฯ
- ยุทธพงศ์ ประชาสิทธิศักดิ์, เสาวพงศ์ เจริญ, จินตนา บุนนาค และ วชิรา พริ้งศุลกะ (2531) การยืดอายุการวางตลาดของเนื้อหมูสดแช่เย็นด้วยรังสีแกมมา รายงานวิชาการประจำปี 2531สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ
- Prachasitthisak, Y., D. Banati and H. Ito (1996) Shelf life extension of chicken meat by gamma irradiation and microflora changes. Food Sci. Technol. Int. 2 (4), 242-245
- Loaharanu, P., C. Prompubesara, and S. Songprasertchai. (1971). Effect of irradiation in extending the storage life of boiled Chub Mackerel (Rastrelliger spp.) THAI. AEC-49 OAEP. Bangkok, Thailand.
- กนก ติระวัฒน์ (1974) การชะลอการสุกของมะม่วงโดยการใช้รังสีแกมมา ใน: การใช้รังสีแกมมาช่วยยืดอายุการวางตลาดของมะม่วงอกร่องและทองดำ THAI. AEC-79 OAEP. Bangkok, Thailand.
- Tiravat, K. (1971). The influence of gamma irradiation on shelf-life extension of banana. In: Effect of gamma irradiation on Hom Tong banana. THAI. AEC-51 OAEP. Bangkok, Thailand. p. 8-13
- โกวิทย์ นุชประมูล เสาวพงศ์ เจริญ ยุทธพงศ์ ประชาสิทธิศักดิ์ วชิรา พริ้งศุลกะ และพิทยา อดุลยธรรม (2534) การเก็บรักษาในทางการค้าและการทดลองวางตลาดหอมหัวใหญ่ฉายรังสี รายงานวิจัยและพัฒนาเลขที่ พปส-1-155 สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ กรุงเทพฯ
- วชิรา พริ้งศุลกะ (2525) การยับยั้งการงอกของมันฝรั่งด้วยรังสีแกมมา รายงานวิจัยและพัฒนาเลขที่ พปส-1-100 สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ กรุงเทพฯ
- เกรียงไกร พรมมา และอัศวิน จตุรงค์พลาธิปัต (2542) ปัญหาพิเศษเรื่อง การยับยั้งการงอกของมันฝรั่งโดยการฉายรังสีเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารขบเคี้ยว ภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- เชวงศักดิ์ พรหมภูเบศร์ (2515) การใช้รังสีแกมมาชะลอการบานของเห็ดฟาง รายงานวิจัยและพัฒนาเลขที่ THAI. AEC-53 สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ กรุงเทพฯ
- ประเสริฐ เสตสุบรรณ, ปัญญาวุฒิ หิรัญญะชาติธาดา, สมจิต ภู่บำเพ็ญ, ยุทธพงศ์ ประชาสิทธิศักดิ์, วิชิต โรจน์กิตติคุณ และ พารณ ดีคำย้อย (2535) ผลของรังสีแกมมาจากโคบอลต์-60 ต่อตัวอ่อนระยะติดตามของพยาธิตัวจี๊ด การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ครั้งที่ 4 ณ โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า วันที่ 20-22 ตุลาคม 2535
- BHAIBULAYA, M. (1985) Effect of gamma ray on the metacercariae of liver fluke (Opis-thorchis viverini) infective stages of parasite caused by consumption of raw or semi-processed fish. Food Irradiation Newsletter Vol. 9, No. 2, p. 8., IAEA, Vienna.
- U.S. Department of Energy, Byproducts Utilization Program. Trichina-safe Pork by Gamma Irradiation Processing. A Feasibility Study. CH2M HILL, Aug. 1983.
- ยุทธพงศ์ ประชาสิทธิศักดิ์ และจินตนา บุนนาค (2533) การปรับปรุงคุณภาพทางจุลินทรีย์ของแหนมด้วยรังสีแกมมา พปส-1-149 สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ
- Prachasitthisak, Y., V. Pringsulaka and S. Chareon. (1989). Consumer acceptance of irra-diated Nham (Fermented pork sausages). Food irradiation Newsletter 13(1), IAEA, Vienna.
- ยุทธพงศ์ ประชาสิทธิศักดิ์ และวชิรา พริ้งศุลกะ (2537) การใช้วิธีการฉายรังสีแกมมาลดการสูญเสียของมะขามหวานระหว่างการเก็บรักษา รายงานการประชุมวิชาการไม้ผลแห่งชาติครั้งที่ 1 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หน้า 296-313
- ยุทธพงศ์ ประชาสิทธิศักดิ์ และวชิรา พริ้งศุลกะ (2542) วิธีการฉายรังสีมะขามหวาน: เทคโนโลยีเพื่อการปรับปรุงคุณภาพมะขามหวานและการยอมรับมะขามหวานฉายรังสีของผู้บริโภค การประชุมวิชาการเทคนิคของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพครั้งที่ 15 เทคโนโลยีเพื่อคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน หน้า 85-95
- Laizier, J. (1987) Test market of irradiated Strawberries in France. Food Irradiation Newsletter, 11(2) IAEA, Vienna. 45-46.
- Bruhn, C. M. and J. W. Noell. (1987) Consumer in store response to Irradiated papayas. Food Technology, 41(9) :83-85.
- Bruhn, C.M. Global Consumer Acceptance of Irradiated Food. Presented at ASEAN/ ICGFI/Seminar on Food Irradiation for Food Industry and Trade. Bangkok, Thailand. 1-4 April 1997.
- Moy, J. H., Sha Zhenyuan and Zhichen Xu (1988) Test marketing of irradiated Apples in Shanghai. Food Irradiation Newsletter, 12(1) IAEA, Vienna. 59-60.
- IAEA, (1998) Report of Final Research Co-ordination Meeting of the FAO/IAEA Co-ordinated Research Programme on Public Acceptance and Market Development of Irradiated Food in Asia and Pacific (RPFI-Phase IV) Bangkok, Thailand. 21-25 September 1998.
|
_________________________________________ |
|