วิธีการที่กล่าวมานี้ จะต้องถูกใช้ผสมผสานกัน นอกจากความร้อนเหล่านี้ที่ต้องจ่ายจากภายนอกไปสู่พลาสมาแล้วนั้น เมื่อปฏิกิริยาฟิวชันเกิดขึ้น จะมีพลังงานเกิดขึ้นเองอีกด้วย (หากไม่มี ก็คงไม่มีประโยชน์นักในการสร้างฟิวชัน) ซึ่งในการเกิดฟิวชันระหว่างดิวเทอรอน (D) กับ ไทรทอน (T) นั้น พลังงานส่วนใหญ่จากฟิวชัน (ราว 80%) จะอยู่ในรูปพลังงานจลน์ของอนุภาคแอลฟา
พลังงานจากฟิวชันนี้หารด้วยพลังงานทั้งหมด (พลังงานจากภายนอกรวมกับพลังงานจากฟิวชัน) เรียกว่าค่า Q ของฟิวชัน หากค่า Q มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 1 ก็จะเรียกว่าพลาสมานั้นมีความคงตัวได้เอง (self-sustaining) ในการผลิตพลังงาน
ตัวอย่างการทดลอง MCF ในประเทศต่าง ๆ: JT-60 (ญี่ปุ่น) Tore Supra (ฝรั่งเศส) DIII-D (สหรัฐอเมริกา) HT-7 (จีน) JET (สหราชอาณาจักร) และ EAST (จีน)
อิเทอร์ (ITER): ในปัจจุบัน การวิจัย MCF มุ่งเน้นที่โครงการ ITER (มาจากภาษาละติน แปลว่า the way) โครงการนานาชาติ ITER นี้เป็นความร่วมมือของกลุ่ม 7 ประเทศ ภายใต้งบประมาณราวหมื่นล้านยูโร ในการศึกษาปฏิกิริยาฟิวชันโดยใช้สนามแม่เหล็กควบคุม โดยเครื่องโทคาแมกที่จะสร้างที่เมืองกาดาราช (Cadarache) ประเทศฝรั่งเศส ในอนาคตนั้น เป็นเครื่องที่ถูกมองว่าจะเป็นสะพานทอดไปยังเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันที่สามารถใช้งานได้จริง ITER คาดว่าปฏิกิริยาระหว่างดิวเทอรอน และไทรทอน นั้นจะสร้างพลังงานได้ถึง 500 MW ต่อเนื่องเป็นเวลา 500 วินาที ซึ่งเป็นพลังงาน และเวลาที่สูงกว่าเครื่องโทคาแมกใด ๆ ที่เคยสร้างขึ้นมาเป็นอย่างมาก
นิวเคลียร์ฟิวชันเป็นกระบวนการที่น่าสนใจยิ่ง เป็นวิธีการที่ดวงอาทิตย์ใช้ในการสร้างความร้อนซึ่งทำให้โลกอบอุ่น นอกจากสร้างพลังงานในดาวฤกษ์แล้ว ฟิวชันยังอาจจะเป็นแหล่งพลังงานใหม่ของโลกในอนาคตเมื่อแหล่งทรัพยากรอื่น ๆ ร่อยหรอลงไป ดังนั้นการศึกษาวิจัยด้านนิวเคลียร์ฟิวชันอย่างจริงจังเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพื่อว่าในวันหนึ่ง ฟิวชันจะได้เป็นแหล่งพลังงานอันมีคุณค่าให้กับมนุษยชาติต่อไป |