การทำให้อาหารปลอดภัยจากเชื้อโรคนั้นมีหลายวิธี วิธีที่นิยมและใช้กันมานานแล้วคือ การใช้ความร้อน ซึ่งใช้ได้ผลดีกับอาหารที่มีน้ำ เช่น น้ำนม น้ำผลไม้ อาหารกระป๋อง ฯลฯ แต่ใช้ไม่ได้ผลกับอาหารสด ซึ่งต้องแช่เย็นหรือแช่แข็ง เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู และอาหารทะเล การใช้รังสีเป็นทางเลือกใหม่ เป็นกรรมวิธีที่มีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโรค และเหมาะที่จะใช้กับอาหาร ซึ่งบรรจุในภาชนะที่ปิดสนิท ไม่ว่าอาหารนั้นจะแช่เย็นหรือแช่แข็งก็ตาม รังสีที่อนุญาตให้ใช้มี 3 ชนิดเท่านั้น คือ รังสีแกมมา รังสีเอกซ์ และรังสีอิเล็กตรอน รังสีดังกล่าวสามารถทำให้เซลล์เกิดการแตกตัวเป็นไอออนและอนุมูลเสรี ซึ่งจะไปทำปฏิกิริยา กับโมเลกุลชีวภาพต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของเซลล์ เช่น โปรตีน ไขมัน และกรดดีออกซิไรโบนิวคลิอิก หรือ DNA ซึ่งเป็นโมเลกุลพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่โมเลกุลเหล่านั้น อันมีผลต่อการแบ่งเซลล์และทำให้เซลล์ตายได้ รังสีจึงช่วยฆ่าเชื้อโรค ทำให้อาหารส่งออกปลอดภัยโดยไม่มีรังสีตกค้าง และไม่ถูกกักกัน ปริมาณรังสีที่เหมาะสม สำหรับใช้ฆ่าเชื้อซาลโมเนลลาอยู่ระหว่าง 2 ถึง 3 กิโลเกรย์ ขึ้นอยู่กับชนิดและลักษณะทางกายภาพของอาหาร
การฉายรังสีอาหารในเชิงพาณิชย์เริ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา ยุโรปบางประเทศ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศอื่น ๆ รวมประมาณ 30 ประเทศ อาหารที่นิยมนำมาผ่านการฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสีได้แก่ เครื่องเทศ เนื้อไก่แช่แข็ง กุ้งแช่แข็ง ขากบแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ซึ่งทำการฉายรังสีที่สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ฯลฯ สำหรับประเทศไทยนั้น ได้ทำการฉายรังสีกุ้งแช่แข็งเพื่อทดลองวางตลาดเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2527 โดยใช้เครื่องฉายรังสีแกมมาบีม-650 ซึ่งเป็นเครื่องฉายรังสีสำหรับการศึกษาวิจัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 และ 2529 ได้ทดลองวางตลาดเนื้อไก่แช่แข็งฉายรังสี และแหนมฉายรังสีตามลำดับ การฉายรังสีอาหารในเชิงพาณิชย์เริ่มขึ้นหลังจากศูนย์ฉายรังสีอาหารและผลิตผลการเกษตรเปิดดำเนินการในปี 2532 ชนิดของอาหารที่ผ่านการฉายรังสีเพื่อฆ่าเชื้อโรคได้แก่ กุ้งแช่แข็ง ปลาแช่แข็ง ปูนิ่มแช่แข็ง เนื้อไก่แช่แข็ง แหนม เครื่องเทศ กุ้งผง และปลาหมึกผง |