เรือตัดน้ำแข็งนิวเคลียร์

วิเชียร รตนธงชัย
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ยานขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ มีความสำคัญต่อรัสเซียทั้งทางเทคนิคและการประหยัดงบประมาณ โดยเฉพาะกับรัสเซียทางตอนเหนือ (Russian Arctic) ที่ต้องใช้เรือตัดน้ำแข็ง (icebreakers) การที่น้ำแข็งมีความหนา 3 เมตร และการเติมเชื้อเพลิงทำได้ยากถ้าใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่น กองเรือนิวเคลียร์ (nuclear fleet) ได้ทำให้การเดินเรือด้านอาร์กติก (arctic) เพิ่มขึ้นจากปีละ 2 เดือนเป็นปีละ 10 เดือน และทำให้ด้านอาร์กติกตะวันตก (western arctic) สามารถเดินเรือได้ทั้งปี นับเป็นการการใช้เรือพลังงานนิวเคลียร์ในทางพลเรือน (civil vessels) ที่สำคัญของโลก

เรือตัดน้ำแข็งเลนิน (Lenin) เป็นเรือผิวน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกของโลก มีระวางบรรทุก 20,000 dwt (deadweight ton) มีการใช้งานอยู่ 30 ปี โดยมีการเปลี่ยนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในปี 1970 ต่อมาได้มีการพัฒนาให้เรือตัดน้ำแข็งมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยผลิตชั้น Arktika-class ที่มีระวางบรรทุก 23,500 dwt ออกมาในปี ค.ศ. 1975 จำนวน 6 ลำ แต่ละลำมีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาด 56 MW ในการขับเคลื่อนจำนวน 2 เครื่อง เพื่อปฏิบัติการในน้ำลึกของทวีปอาร์กติก เรือ Arktika เป็นเรือผิวน้ำลำแรกที่สามารถไปถึงขั้วโลกเหนือในปี ค.ศ. 1977

 
 
เรือตัดน้ำแข็งเลนินของรัสเซีย

การใช้งานสำหรับกรณีน้ำตื้น เช่น ปากน้ำหรือในแม่น้ำ มีการสร้างเรือต้นแบบขึ้นมา 2 ลำ ในฟินแลนด์ เป็นเรือตัดน้ำแข็งชั้น Taymyr-class ระวางบรรทุก 18,260 dwt ใช้เครื่องปฏิกรณ์ขนาด 38 MW โดยใช้ระบบผลิตไอน้ำที่ทำในรัสเซีย โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้าง เพื่อแสดงให้เห็นว่า เรือพลังงานนิวเคลียร์ที่สร้างขึ้น เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยระหว่างประเทศ (international safety standards) เรือชั้นนี้เริ่มออกปฏิบัติการในปี ค.ศ. 1989

ในปี ค.ศ. 1988 รัสเซียได้ออกเรือ NS Sevmorput สำหรับใช้ที่ท่าเรือตอนเหนือของไซบีเรีย (Siberian ports) เรือลำนี้มีระวางบรรทุก 61,900 ตัน เป็นเรือบรรทุกขนาดเบาสำหรับใช้กับท่าเรือน้ำตื้นที่ติดตั้งชุดตัดน้ำแข็ง โดยใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาด 135 MWt แบบ KLT-40 เช่นเดียวกับที่ใช้ในเรือตัดน้ำแข็งขนาดใหญ่ ให้กำลังในการขับใบพัดเรือ 30 MW มีการเติมเชื้อเพลิงใหม่ครั้งเดียวเมื่อปี ค.ศ. 2003

 
 
เรือตัดน้ำแข็ง Sovetskij Sojuz ของรัสเซีย
นับถึงปี ค.ศ. 2003 รัสเซียมีชั่วโมงการปฏิบัติงานกับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของเรือพลังงานนิวเคลียร์ในทวีปอาร์กติก 250 ปี และมีโครงการที่จะสร้างเรือตัดน้ำแข็งพลังงานนิวเคลียร์ระวางบรรทุก 32,400 dwt ซึ่งให้กำลังในการขับใบพัดเรือ 60 MW และมีแผนที่จะสร้างเรือที่มีกำลังสูงขึ้นให้มีขนาด 110 MW net และ 55,600 dwt
 
 
เรือตัดน้ำแข็ง Yamal ของรัสเซีย
 
ถอดความจาก Nuclear-powered Ships
เว็บไซต์ http://www.uic.com