Ms. Eliana Amaral ผู้อำนวยการ Division of Radiation, Transport and Waste Safety ของ IAEA กล่าวว่า ดิฉันเชื่อว่าความร่วมมือกันในระดับนานาชาติขององค์กรที่เชี่ยวชาญทั้งสอง จะทำให้เชื่อมั่นได้ว่ามาตรฐานใหม่ จะได้รับการยอมรับและนำไปใช้โดยภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัย ในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ การป้องกันอันตรายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม
สัญลักษณ์ใหม่นี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เตือนให้ระวัง สำหรับทุกคนและทุกแห่งที่อาจจะมีอันตราย เนื่องจากอยู่ใกล้กับต้นกำเนิดรังสีขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการ 5 ปี ที่ดำเนินการอยู่ใน 11 ประเทศทั่วโลก สัญลักษณ์นี้ได้รับการทดสอบกับประชาชนหลายกลุ่มที่มีหลายช่วงอายุ มีพื้นฐานการศึกษาที่แตกต่างกัน ทั้งชายและหญิง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสิ่งที่ต้องการสื่อสารว่า อันตราย-ห้ามเข้าใกล้ มีความเข้าใจได้อย่างชัดเจนกับทุกคน
Carolyn Mac Kenzie ซึ่งเป็นผู้ชำนัญพิเศษด้านรังสี (radiation specialist) ของ IAEA ที่เป็นผู้ช่วยพัฒนาสัญลักษณ์นี้ กล่าวว่า เราไม่สามารถสอนทุกคนในโลกเกี่ยวกับเรื่องรังสี แต่เราสามารถเตือนผู้คนถึงอันตรายจากรังสี ได้ด้วยป้ายสติกเกอร์
สัญลักษณ์ใหม่นี้ ได้รับการพัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมมนุษย์ นักออกแบบกราฟิก และผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันรังสี รวมทั้งสถาบันแกลลัป (Gallup) ได้ทดสอบกับประชาชน 1,650 คน ในประเทศบราซิล เม็กซิโก โมร็อกโก เคนยา ซาอุดีอาระเบีย จีน อินเดีย โปแลนด์ ยูเครน สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย
สัญลักษณ์นี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะใช้สำหรับต้นกำเนิดรังสีประเภท 1, 2 และ 3 ของ IAEA ซึ่งได้กำหนดตามระดับของอันตราย ที่จะทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต รวมทั้งเครื่องฉายรังสีอาหาร (food irradiators) เครื่องฉายรังสีรักษาสำหรับใช้รักษามะเร็ง และอุปกรณ์การถ่ายภาพด้วยรังสีทางอุตสาหกรรม สัญลักษณ์นี้จะติดไว้ที่อุปกรณ์ที่บรรจุต้นกำเนิดรังสี เพื่อเตือนไม่ให้เข้าใกล้ หรือไม่ให้ถอดส่วนที่ห่อหุ้มออก สัญลักษณ์นี้จะไม่เห็นเมื่อใช้งานตามปกติ ยกเว้นเมื่อมีผู้พยายามแยกชิ้นส่วนของอุปกรณ์ออก สัญลักษณ์นี้จะไม่ติดไว้ที่ประตูทางเข้าของอาคาร บนหีบห่อหรือตู้บรรจุสินค้า (container) สำหรับขนส่ง
Alan Bryden เลขาธิการ ISO กล่าวว่า สัญลักษณ์เตือนภัยจากรังสีแบบใหม่นี้ (ISO 21482) ถือเป็นความสำเร็จล่าสุดของความร่วมมืออันยาวนานของ IAEA กับ ISO เราสนับสนุนให้ทุกประเทศนำสัญลักษณ์นี้ไปใช้ในทันที
ผู้ผลิตต้นกำเนิดรังสีหลายแห่ง มีแผนที่จะใช้สัญลักษณ์นี้กับต้นกำเนิดรังสีขนาดใหญ่ที่ผลิตขึ้นใหม่ เพื่อนำสัญลักษณ์ที่พัฒนาขึ้นโดย IAEA มาใช้กับต้นกำเนิดรังสีขนาดใหญ่ |