มนุษย์อวกาศกินอะไรในอวกาศ

โกวิทย์ นุชประมูล
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

จีนเป็นประเทศที่ใหญ่และมีประชากรมากที่สุดในโลก คนจีนนับถือบูชาพระจันทร์และมีประเพณีไหว้พระจันทร์มาตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน คงไม่มีชาวจีนคนใดคิดมาก่อนว่าวันหนึ่งจะมีมนุษย์ขึ้นไปบนดวงจันทร์ได้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2512 ยานอะพอลโล 12 ได้นำมนุษย์อวกาศชาวอเมริกันแล่นลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จเป็นครั้งแรก จากนั้นก็มียานอวกาศอีกหลายลำขึ้นไปจอดบนดวงจันทร์ นับตั้งแต่อะพอลโล 13 จนถึงอะพอลโล 17 ครั้งที่ใช้เวลาบนดวงจันทร์นานที่สุดคือ ในเดือนธันวาคม 2515 ซึ่งใช้เวลาอยู่นานถึง 75 ชั่วโมง นอกจากการสำรวจบนดวงจันทร์แล้ว มนุษย์อวกาศยังได้เดินทางออกนอกโลกไปสำรวจตามสถานีอวกาศอีกหลายแห่ง ทั้งที่เป็นโครงการร่วมระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต เช่น โครงการอะพอลโล-โซยุซ (Apollo-Soyuz) ในปี พ.ศ. 2518 หรือ โครงการของสหรัฐอเมริกาเองโดยใช้ยานโคลัมเบียในปี พ.ศ. 2524 การเดินทางแต่ละครั้งนั้นมนุษย์อวกาศต้องอยู่บนอวกาศนานหลายร้อยชั่วโมง

มนุษย์อวกาศกินอะไรเมื่ออยู่ในอวกาศ

เนื่องจากชั้นอวกาศอยู่ห่างไกลและสูงกว่าระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 12 กิโลเมตรขึ้นไป ซึ่งไม่มีความดันบรรยากาศและแก๊สออกซิเจน มนุษย์อวกาศจึงต้องใส่ชุดที่ออกแบบเฉพาะ มีกระเป๋าเป้ติดอยู่ด้านหลัง ประกอบด้วยถังออกซิเจน อุปกรณ์ช่วยหายใจ ระบบควบคุมความดันและระบายอากาศ ระบบควบคุมอุณหภูมิและระบบทำความเย็น แน่นอนที่ห่างไกลเช่นนั้นคงไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ไม่มีหมอและพยาบาล หากเกิดท้องเสียเฉียบพลันเนื่องจากอาหารเป็นพิษ หรือมีเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคในอาหารคงสร้างความวุ่นวายไม่น้อย และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในอวกาศอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งอาจทำให้โครงการต้องหยุดชะงักหรือล่าช้า ซึ่งหมายถึงการสูญเสียเงินมหาศาล เพราะการเดินทางไปสำรวจอวกาศแต่ละครั้ง มีค่าใช้จ่ายหลายพันล้านดอลลาร์อเมริกัน ดังนั้นอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ กล่าวคือ ประการแรกต้องมีความปลอดภัย ไม่มีเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ประการที่สอง ต้องเก็บรักษาได้นานที่อุณหภูมิห้อง มีคุณค่าทางโภชนาการ และประการที่สาม ต้องพร้อมบริโภคและมีรสชาติเป็นที่ยอมรับ

อาหารฉายรังสีคือคำตอบ

สหภาพโซเวียตเป็นประเทศแรกที่ใช้อาหารฉายรังสีเป็นเสบียงของมนุษย์อวกาศในยานโซยุซ 4 (Soyuz 4) เมื่อปี พ.ศ. 2512 ต่อมาในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกันสหรัฐอเมริกาก็เริ่มใช้อาหารฉายรังสีสำหรับมนุษย์อวกาศในยานอะพอลโล ชนิดของอาหารฉายรังสี ได้แก่ เนื้อฉายรังสี ไม่ว่าจะเป็น beefsteak, corned beef, ham หรือ smoked turkey, ขนมปังซึ่งทำจากแป้งสาลีฉายรังสีเพื่อฆ่าแมลง, ขนมปังแช่แข็งฉายรังสีเพื่อฆ่าเชื้อรา, แซนด์วิชที่ทำจากขนมปังข้าวไรย์ฉายรังสี แฮมฉายรังสี และชีสเชดดาร์ฉายรังสี, การฉายรังสีอาหารกระทำที่ U.S.Army Natick Research and Development Laboratories, Massachusetts และที่มหาวิทยาลัยเนบราสกา

ทำไมต้องใช้อาหารฉายรังสี

การฉายรังสีเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์ของจุลินทรีย์ ทั้งชนิดก่อโรคและชนิดไม่ก่อโรค ไม่เปลี่ยนสภาพทางกายภาพของอาหารและไม่ทำให้อุณหภูมิของอาหารสูงขึ้น คุณค่าทางโภชนาการจึงเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ซึ่งดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ความร้อน ภายใต้ความดันในการฆ่าเชื้อโรค นอกจากนี้การฉายรังสีอาหารเป็นเทคโนโลยีที่มีการศึกษาวิจัย ด้านความปลอดภัยมากที่สุด ที่สำคัญคือ ผลการวิจัยด้านความปลอดภัยของอาหารฉายรังสี ได้ผ่านการพิสูจน์ ประเมิน และรับรองแล้วว่าปลอดภัยทั้งในระดับประเทศ เช่น USFDA หรือในระดับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) และ Codex

เทคโนโลยีการฉายรังสีอาหารได้ก้าวหน้าไปมาก พร้อมๆกับการก้าวของมนุษย์ในยุคอวกาศ  อีกไม่นานเกินรอคงจะมีอาหารฉายรังสีเมนูแปลกใหม่ สำหรับมนุษย์ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในอวกาศ   คำถามคือว่าทำไมจึงมีการใช้กันน้อย ทั้งๆที่รู้แล้วว่าปลอดภัย และสามารถใช้ฆ่าเชื้อโรคและแมลง รวมทั้งยืดอายุการเก็บรักษาของอาหารได้   อย่าปล่อยให้อาหารที่ผลิตหรือเก็บเกี่ยวมาได้ ต้องสูญเสียหรือเสื่อมสภาพไปอีกเลย เพราะกว่าจะผลิตมาได้นั้นต้องเสียทั้งแรงงาน เงิน  ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรดินและน้ำ