รู้ได้อย่างไรว่าอาหารนี้ผ่านการฉายรังสีแล้วหรือยัง

โดย เสาวพงศ์ เจริญ และสุรศักดิ์ สัจจบุตร
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การฉายรังสีอาหาร จัดเป็นกรรมวิธีการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง ที่มีการทดลองวิจัยกันมานาน ทั้งในประเทศและนานาประเทศทั่วโลก บางประเทศก็มีการยอมรับ และวางตลาดอาหารฉายรังสีแล้ว กรรมวิธีการฉายรังสีอาหารนี้ ไม่ได้มีการเติมหรือปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีใด ๆ เข้าไปในอาหาร แต่เป็นการผ่านพลังงานของรังสี ที่เข้าไปในอาหาร ในขณะที่ทำการฉายรังสี โดยหลังจากผ่านการฉายรังสีแล้ว อาหารนั้น ๆ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแต่อย่างใด เปรียบกับคนที่ผ่านการฉายเอกซเรย์ เพื่อตรวจสุขภาพร่างกายที่โรงพยาบาล ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกาย หรือไม่ได้กลายเป็นมนุษย์รังสีในภายหลัง แม้อาหารฉายรังสี จะเป็นที่ยอมรับ จากองค์การสากลระหว่างประเทศเช่น องค์การอนามัยโลก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ว่ามีความปลอดภัย เมื่อมีการฉายรังสีอาหาร ด้วยชนิดและปริมาณรังสี ตามที่มาตรฐานกำหนด แต่การฉายรังสีอาหาร ยังต้องมีการควบคุมในเรื่องของกรรมวิธีการผลิต เพราะยังต้องมีการตรวจสอบ ควบคุมต้นกำเนิดรังสี ในโรงงานผลิตอาหารฉายรังสี ซึ่งปกติแล้ว ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขของไทย ควบคุมโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำหนดว่า อาหารฉายรังสี ต้องผ่านกรรมวิธีการผลิต ตามที่กำหนดและต้องมีการแสดงฉลาก แต่ถ้าอาหารเหล่านั้น ไม่ได้ผ่านการดำเนินการอย่างถูกต้อง เช่นไม่ได้ติดฉลาก แสดงว่าผ่านการฉายรังสีแล้ว อาหารนั้น ก็ยากที่จะตรวจสอบได้ด้วยตาเปล่า เพราะอาหารนั้น ยังคงสภาพเดิมไม่เปลี่ยนแปลง หรือการใช้เครื่องมือพื้น ๆ ธรรมดาในการวิเคราะห์อาหาร เพื่อตรวจวัดสารอาหารบางอย่าง ก็ไม่สามารถแยกความแตกต่าง ได้อย่างมีนัยสำคัญ ระหว่างอาหารฉายรังสีและไม่ฉายรังสี ในการที่จะระบุหรือไม่ว่าอาหารนั้น ๆ เป็นอาหารฉายรังสีหรือไม่ อาจมีผลในทางการค้าขายผลิตภัณฑ์อาหาร เพราะอาจเกิดกรณี ที่มีการลักลอบฉายรังสีอาหาร แล้วไม่ได้แสดงฉลาก เพื่อวัตถุประสงค์ ในการทำให้อาหารมีคุณภาพที่ดีขึ้น เช่นปราศจากแมลงทำลาย หรือเชื้อโรคลดหรือหมดไป ซึ่งมองในเรื่องคุณภาพ ก็จะมีผลในแง่บวกทางการค้า โดยเฉพาะอาหารที่ลักลอบฉายรังสี เพื่อส่งจำหน่ายยังประเทศ ที่ยังไม่มีกฎหมายยอมรับอาหารฉายรังสี หรือแม้แต่ประเทศที่ยอมรับได้ แต่ถ้าไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการฉายรังสี หรือแสดงฉลากว่าเป็นอาหารฉายรังสี คู่ค้าหรือผู้บริโภค ก็ไม่อาจกระทำการตรวจสอบ ย้อนได้ถึงกรรมวิธีการฉายรังสี โดยเฉพาะในเรื่องของการควบคุมคุณภาพของโรงงานฉายรังสี และปริมาณรังสีที่ได้รับ ว่าถูกต้องหรือไม่ ฉะนั้น จึงได้มีการทดลอง ตรวจวัดอาหารฉายรังสี และไม่ฉายรังสี ด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อพิสูจน์ทราบได้ว่า อาหารนั้น ๆ ผ่านการฉายรังสีมาแล้วหรือยัง การตรวจพิสูจน์มีได้หลายวิธี เช่นการวิเคราะห์จากการเปลี่ยนแปลง คุณลักษณะต่าง ๆ ภายในอาหารฉายรังสีเทียบกับอาหารไม่ฉายรังสี เช่น การเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์ ทางเคมี และชีววิทยา (ดูตาราง)

การตรวจพิสูจน์ด้วยวิธีการเหล่านี้ อาจเหมาะสำหรับการตรวจอาหารประเภทใดประเภทหนึ่ง ยังไม่มีข้อมูลที่รายงานว่า มีเครื่องมือใด ที่สามารถตรวจวัดการเป็นอาหารฉายรังสี ได้ทั้งหมดทุกประเภท อย่างถูกต้องแม่นยำ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการยอมรับวิธีการ และได้กำหนดมาตรฐานวิธีการตรวจสอบ ว่าอาหารนั้น ๆ ผ่านการฉายรังสีหรือไม่ เช่น ในสหภาพยุโรป (European Standard) ได้กำหนดให้ใช้เทคนิค Photostimulated luminescence (PSL) - EN 13751 และ Thermoluminescense (TL) - EN 1788 เพื่อตรวจสอบอาหารฉายรังสี ซึ่งขณะนี้ก็ได้นำวิธีการทั้งสองมาทำการตรวจวัดอาหาร ที่นำเข้าในประเทศสหภาพยุโรป รวมถึงอาหารแห้ง เช่น เครื่องเทศ เครื่องปรุงรส จากประเทศไทยด้วย

วิธีการตรวจพิสูจน์อาหารฉายรังสีแบบต่างๆ

วิธีการ / หลักการ
รูปประกอบ
อาหารที่เหมาะจะใช้วัด
     การวิเคราะห์ทางฟิสิกส์
อิเล็กตรอนสปินเรโซแนนช์ (Electron spin resonance) - ESR โดยอนุมูลอิสระ ที่เกิดจากการฉายรังสี ถูกจับไว้ในพาหะ ที่มีในองค์ประกอบ ของอาหาร เช่น crystalline sugars หรือ bone เมื่อทำการผ่าน คลื่นไมโครเวฟ และสนามแม่เหล็ก วัดออกมา ในรูปของสเปกตรัมจาก Spectrophotometer
อาหารเนื้อสัตว์ที่มีส่วนประกอบของกระดูก เครื่องเทศ ผักผลไม้แห้ง
การเปล่งแสงเหตุความร้อน (Thermoluminescence) - TL โดยพลังงานที่ถูกจับไว้ในพาหะที่มีแร่ธาตุเช่น ซิลิกาในอาหารฉายรังสีจะถูกปลดปล่อย หลังจากกระตุ้นด้วยความร้อน
อาหารที่มีส่วนประกอบของแร่เช่นซิลิกา หอย กุ้ง ปู เครื่องเทศ สมุนไพรแห้ง เมล็ดธัญพืช
โฟโตสติมูเลตลูมิเนสเซนส์ (Photo stimulated luminescense) - PSL โดยพลังงานที่ถูกจับไว้ ในพาหะ ที่มีแร่ธาตุ เช่น silicates หรือ calcites ในอาหารฉายรังสี จะถูกปลดปล่อยออกมา หลังจากกระตุ้นด้วยแสง เช่น อินฟราเรด
สมุนไพร สัตว์น้ำ จำพวกมีเปลือกเช่นหอย กุ้ง ปู
การวัดความหนืด (Viscosity) โดยวัดความหนืดของอาหารที่ cell wall มีการเปลี่ยนแปลง การซึมผ่าน ของสารละลาย เข้าไปในเซลล์ หลังการฉายรังสี
พริกไทย อบเชย กุ้ง
การวัดสภาพนำไฟฟ้าและอิมพีแดนซ์ (Conductivity and impedance measurements)
อาหารพวกของเหลว เช่น ไวน์ น้ำผลไม้ น้ำส้มสายชู
     การวิเคราะห์ทางชีววิทยาและจุลชีววิทยา
การวัดปริมาณ o-tyrosine ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่เซลล์ใช้สังเคราะห์โปรตีนใน อาหาร
เนื้อสัตว์ ไก่ ปลา อาหารทะเล
DNA Comet Assay โดยตรวจวัด DNA ภายในอาหารฉายรังสี โดยใช้ Microgel electrophoresis   ไก่ หมู ปลาผัก ผลไม้
Direct epifluorescent / aerocic plate count (DEFT/APC) โดยตรวจวัดจุลินทรีย์ในอาหารหลังการฉายรังสี
เครื่องเทศ ไก่ สมุนไพร