สายพันธุ์แมลงแยกเพศได้เพื่อเทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมัน
Genetic Sexing Strains of Insect Pests for Use with the Sterile Insect Technique

สุชาดา เสกสรรค์วิริยะ และ กนกพร บุญศิริชัย
กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ

การควบคุมกำจัดแมลงวันผลไม้โดยเทคนิคการใช้แมลงที่เป็นหมัน (Sterile Insect Technique หรือ SIT) เป็นวิธีการที่สำคัญวิธีการหนึ่งในการจัดการศัตรูพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจแบบผสมผสาน การเพิ่มประสิทธิภาพของวิธีการนี้จะช่วยให้ค่าใช้จ่ายในการควบคุมกำจัดแมลงลดลงส่วนหนึ่ง เทคโนโลยีการจำแนกเพศเชิงพันธุศาสตร์ (genetic sexing technology) สามารถช่วยในการคัดแยกเพศของแมลงเพื่อที่จะปล่อยแมลงเพศผู้ที่เป็นหมันเพียงเพศเดียว ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของทั้งกระบวนการผลิตและเทคนิค SIT การใช้เทคโนโลยีนี้ในแมลงวันผลไม้เมดิเตอเรเนียน Ceratitis capitata เป็นตัวอย่างความสำเร็จหนึ่ง ซึ่งในอนาคตเทคโนโลยีนี้จะเป็นที่ต้องการของแมลงศัตรูพืชชนิดอื่น ๆ

เป็นที่ยอมรับว่าในการควบคุมกำจัดแมลงวันผลไม้โดยเทคนิค SIT เพียงการปล่อยแมลงเพศผู้ที่เป็นหมันสู่ธรรมชาติเท่านั้น ก็เพียงพอแล้ว ในธรรมชาติ แมลงตัวเมียจะเป็นตัวกำหนดหลักของขนาดประชากรในรุ่นต่อไป เพราะตัวเมียเป็นเพศที่วางไข่ ซึ่งจะเจริญเป็นตัวเต็มวัยในอนาคต ส่วนแมลงตัวผู้ในธรรมชาติจะผลิตอสุจิในปริมาณมาก เกินกว่าจำเป็นหลายเท่าตัวนัก ดังนั้น ในการการควบคุมกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยการลดขนาดของประชากรแมลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงจำเป็นต้องกำจัดอสุจิในธรรมชาติทิ้งไปถึง 99% โดยประมาณ สำหรับเทคนิค SIT ความเป็นหมันจะถูกนำเข้าสู่ประชากรธรรมชาติ โดยตัวผู้ที่เป็นหมันเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะมีการปล่อยแมลงที่เป็นหมันทั้งสองเพศก็ตาม เนื่องจากตัวเมียเป็นหมันที่ปล่อยสู่ธรรมชาติ จะให้ไข่ที่ไม่สามารถเจริญไปเป็นตัวเต็มวัยได้ จึงไม่มีผลต่อขนาดของประชากรในรุ่นต่อไป แต่ตัวผู้เป็นหมัน เมื่อผสมกับตัวเมียธรรมชาติ จะทำให้ไข่ที่ได้ จากตัวเมียธรรมชาติเสียสภาพไป จึงเป็นผลให้ประชากรในรุ่นต่อไปมีขนาดลดลง เทคนิค SIT นี้จึงได้ชื่อในเบื้องต้นว่า “วิธีการปล่อยแมลงเพศผู้ที่เป็นหมัน (sterile-male method)”

เนื่องจากลักษณะประจำเพศตามธรรมชาติของแมลงโดยทั่วไปเป็นที่สังเกตได้ยาก การปล่อยแมลงเป็นหมันทั้งสองเพศ จึงสะดวกกว่าการคัดแยกแมลง เพื่อปล่อยแต่ตัวผู้เป็นหมันเพียงเพศเดียว อย่างไรก็ ตามมีงานวิจัยหลายชิ้น ที่แสดงให้เห็นว่า การปล่อยแมลงทั้งสองเพศพร้อมกัน มีประสิทธิภาพน้อยกว่าการปล่อยแมลงเพศผู้เพียงเพศเดียว เหตุผลที่เห็นได้ชัดเจนคือแมลงเป็นหมันที่ปล่อยไปนั้นผสมพันธุ์กันเอง สัดส่วนของแมลงเพศผู้เป็นหมันที่ผสมพันธุ์กับแมลงเพศเมียในธรรมชาติลดลง ความเป็นหมันที่ถูกนำเข้าสู่ประชากรธรรมชาติจึงน้อยลง

ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงมีการพัฒนาสายพันธุ์แมลงขึ้นมา เพื่อการผลิตแบบปล่อยเพศผู้เป็นหมันเพียงเพศเดียว โดยมีเป้าหมายพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเทคนิค SIT ในภาคสนามและลดต้นทุนการปลดปล่อยแมลง ในกรณีของแมลงวันผลไม้เมดิเตอเรเนียน ต้นทุนการผลิตแมลง โดยใช้สายพันธุ์จำแนกเพศ เพื่อปล่อยเฉพาะแมลงเพศผู้ ไม่มีความแตกต่างจากต้นทุนการผลิต โดยใช้สายพันธุ์ปกติเพื่อปล่อยแมลงทั้งสองเพศ แต่สามารถเห็นการลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมีนัยสำคัญ ในกระบวนการทำให้เป็นหมันและการปล่อยแมลง เนื่องจากปริมาณแมลงที่จะต้องทำเครื่องหมาย ฉายรังสี ขนส่ง และปล่อยสู่ธรรมชาติจะมีเพียงครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการเฝ้าตรวจภาคสนามยังลดลงอย่างชัดเจนเมื่อกระทำร่วมกับการดักจับเพศเมีย

สิ่งที่ควรคำนึงถึงอีกประการหนึ่งคือความเสียหายซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากการปล่อยแมลงเพศเมีย ความเสียหายเหล่านี้ขึ้นอยู่กับชนิดของแมลง เช่น ความเสียหายต่อผลสดจากการวางไข่ที่ไม่ฟัก (sterile sting) ของแมลงวันผลไม้เพศเมียเป็นหมัน การผลิตเนื้อผลไม้ที่ลดลงจากการกัดกินโดยแมลงวันเพศเมียชนิดที่กัดกินเนื้อ หรือการถ่ายทอดโรคโดยเพศเมียซึ่งเป็นพาหะในแมลงชนิดที่ดูดเลือด สำหรับแมลงศัตรูพืชซึ่งไม่ได้ถ่ายทอดโรค การทำ SIT แบบปล่อยแมลงเป็นหมันทั้งสองเพศสามารถใช้ได้ในการกำจัดแมลงโดยสิ้นซาก (eradication) ซึ่งใช้ระยะเวลาเพียงสั้น ๆ หากเป็นการปล่อยแบบต่อเนื่องเพื่อการควบคุมหรือป้องกัน การปล่อยเฉพาะแมลงเพศผู้ที่เป็นหมันจะเหมาะสมกว่า

ในบางกรณี ลักษณะเฉพาะทางธรรมชาติของแมลงบางชนิด สามารถใช้ในการจำแนกเพศ เมื่อต้องการผลิตแมลงจำนวนมากได้ เช่น การจำแนกเพศโดยอาศัยขนาดของดักแด้ที่แตกต่างกัน ระหว่างเพศตามธรรมชาติในยุง Anopheles albimanus และการจำแนกเพศโดยอาศัยระยะการออกจากดักแด้ เป็นตัวเต็มวัย ที่แตกต่างกัน ของเพศผู้และเพศเมียในแมลงวันเซตซี Glossina austeni อย่างไรก็ตามสำหรับแมลงโดยทั่วไป เพศผู้และเพศเมียจะไม่มีความแตกต่างกันมากพอ ที่ผู้ปฏิบัติงานจะแยกแยะได้ในระดับการผลิตจำนวนมากเพื่อ SIT ดังนั้นจึงมีการพัฒนาสายพันธุ์เฉพาะเพื่อการจำแนกเพศขึ้นโดยใช้วิธีทางพันธุศาสตร์ ซึ่งกระทำได้ด้วยการชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ร่วมกับการจัดเรียงตัวใหม่ของชิ้นส่วนโครโมโซมที่เกี่ยวข้อง

จวบกระทั่งปี ค.ศ. 2002 ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์แมลงเพื่อการจำแนกเพศ (sexing strain) ขึ้นมาแล้วในแมลง 19 ชนิดทั่วโลก ทุกสายพันธุ์ที่ได้ใช้หลักการเดียวกัน คืออาศัยลักษณะที่เป็นเครื่องหมาย ในการคัดเลือกซึ่งแสดงความจำเพาะต่อเพศใดเพศหนึ่ง (sex-specific selectable marker) แต่มีแมลงเพียงสองชนิดคือ A. albimanus และ C. capitata ที่ได้รับการพัฒนาจนถึงจุด ที่สามารถผลิตให้ได้จำนวนมากตามความต้องการของ SIT และเฉพาะใน C. capitata เท่านั้น ที่ระบบจำแนกเพศได้รับการปรับปรุงให้มีเสถียรภาพ เหมาะสมสำหรับการผลิตในระยะยาว โดยทั่วไปแล้ว การสร้างสายพันธุ์แมลง เพื่อการจำแนกเพศขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่สิ่งที่ยากนัก แต่สายพันธุ์ที่ได้ มักขาดสมบัติเฉพาะที่จำเป็นต่อความสำเร็จของการประยุกต์ใช้ SIT ในระยะยาว โดยพิจารณาทั้งความเป็นไปได้และปัจจัยทางเศรษฐกิจ (เช่น กรรมวิธีที่เหมาะสมในการคัดแยกเพศแมลง) รวมถึงความสามารถในการผลิต และความมีเสถียรภาพของสายพันธุ์ (เช่น โครงสร้างทางพันธุกรรมที่เหมาะสมของสายพันธุ์) ในการยกระดับระบบการจำแนกเพศ จากระดับห้องทดลองสู่ระดับการใช้งานจริง จึงต้องมีงานวิจัยรองรับอย่างเข้มข้น เกี่ยวกับพฤติกรรมทางพันธุกรรมของสายพันธุ์ รวมทั้งการปรับปรุงสายพันธุ์อย่างเหมาะสม เพื่อให้ได้ระบบการจำแนกเพศที่มีเสถียรภาพ ภายใต้เงื่อนไขการผลิตระดับอุตสาหกรรมเมื่อต้องผลิตแมลงเป็นจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อ มีการศึกษารวบรวมองค์ความรู้พื้นฐานทางพันธุกรรม ของแมลงแต่ละชนิดอย่างเพียงพอ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ในปัจจุบัน จำกัดอยู่เฉพาะแมลงศัตรูพืชบางชนิดเท่านั้น

สายพันธุ์เพื่อการจำแนกเพศที่ใช้งานได้จริง ในระดับการผลิตปริมาณมาก และมีเสถียรภาพมากพอสำหรับการผลิตในระยะยาว ปัจจุบันมีเฉพาะแมลงวันผลไม้เมดิเตอเรเนียนท่านั้น โดยสามารถผลิตเพศผู้ได้ประมาณ 3.5 พันล้านตัวต่อสัปดาห์ และได้มีการศึกษาวิเคราะห์ปรับปรุงสายพันธุ์ให้มีเสถียรภาพ จึงสามารถใช้เป็นตัวอย่าง สำหรับกรณีศึกษา เพื่อการพัฒนาสายพันธุ์แมลง เพื่อการจำแนกเพศในแมลงศัตรูพืชชนิดอื่นต่อไป

โครงสร้างหลักของสายพันธุ์แมลงเพื่อการจำแนกเพศ

สายพันธุ์แมลงเพื่อการจำแนกเพศที่พัฒนาขึ้นในปัจจุบัน มีองค์ประกอบสองส่วนคือ

  1. การกลาย (mutation) ซึ่งให้ลักษณะที่สามารถใช้ในการจำแนกเพศทั้งสองได้โดยสะดวก โดยอาจเป็นการกลายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือเกิดจากการชักนำด้วยรังสี หรือสารก่อกลายพันธุ์
  2. การแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนระหว่างโครโมโซม Y กับโครโมโซมที่เกิดการกลายในข้อแรก (Y-autosome translocation) ซึ่งเป็นเหตุให้การแสดงออกของลักษณะกลายมีความจำเพาะกับเพศใดเพศหนึ่ง การแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนระหว่างต่างโครโมโซมนี้สามารถชักนำให้เกิดขึ้นได้ด้วยการฉายรังสี

การคัดเลือกลักษณะกลายที่เหมาะสม เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จ ของการผลิตสายพันธุ์แมลงเพื่อการจำแนกเพศ ดังนั้น ในการคัดเลือกลักษณะกลาย ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ควรคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระยะของวงชีวิตที่ต้องทำการคัดแยกเพศ กรรมวิธีที่ต้องใช้ในการคัดแยกเพศและกำจัดเพศเมีย ความแม่นยำ ค่าใช้จ่าย และประสิทธิภาพในการเพาะเลี้ยง และรักษาสายพันธุ์ ในแมลงวันผลไม้เมดิเตอเรเนียน ลักษณะกลายที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการเพาะเลี้ยงแบบโรงเลี้ยงขนาดใหญ่ มีสองลักษณะด้วยกันคือ ความไวต่ออุณหภูมิซึ่งเป็นผลให้เสียชีวิต (temperature sensitive lethal; tsl) ซึ่งใช้ในการกำจัดแมลงวันเพศเมีย โดยตัวเมียที่ได้จากการผลิตจะไวต่ออุณหภูมิ เพียงการบ่มไข่แมลงที่อุณหภูมิ 31-35oC เป็นเวลา 24 ชม. จะสามารถกำจัดไข่ตัวเมียได้ (อุณหภูมิในการเพาะเลี้ยงปกติคือ 25oC) หนอนที่ฟักออกจากไข่จะเจริญเป็นตัวผู้เท่านั้น ลักษณะกลายอีกลักษณะหนึ่งคือ ดักแด้สีขาว ซึ่งใช้ในการควบคุมการผลิต หากมีหนอนตัวเมียเล็ดรอดจากการบ่มอุณหภูมิ เมื่อหนอนนั้นเข้าดักแด้จะให้ดักแด้สีขาวแตกต่างจากดักแด้ปกติซึ่งเป็นสีน้ำตาล ผู้ปฏิบัติงานจึงสามารถคัดดักแด้ขาวเหล่านี้ทิ้งไปได้

ลักษณะกลายทั้งสองลักษณะ โดยเริ่มแรกแล้ว ไม่แสดงความจำเพาะต่อเพศใดเพศหนึ่ง การชักนำให้ลักษณะกลายมีความจำเพาะต่อเพศ สามารถทำได้ โดยการนำดักแด้แมลงวันผลไม้เมดิเตอเรนียนปกติ มาฉายรังสีแกมมาจากโคบอลต์-60 ที่ 40-50 เกรย์ แล้วนำตัวผู้ที่ได้ ไปผสมพันธุ์กับตัวเมีย ที่แสดงลักษณะไวต่ออุณหภูมิและมีดักแด้สีขาว จากนั้น ทำการผสมพันธุ์อีกครั้ง โดยให้ตัวผู้ในรุ่นลูก ผสมพันธุ์กับตัวเมีย ที่แสดงลักษณะกลายโดยแยกผสมทีละคู่ ในรุ่นหลาน จึงคัดเลือกเฉพาะครอบครัวที่ตัวผู้ มีลักษณะปกติ แต่ตัวเมียแสดงลักษณะกลาย เพื่อเก็บไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในการผลิตแมลงเพศผู้ต่อไป ในสายพันธุ์นี้ เมื่อศึกษาลึกลงไปในระดับเซลล์ พบว่า มีการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วน ระหว่างโครโมโซม Y ซึ่งเป็นโครโมโซมที่กำหนดเพศผู้ กับโครโมโซมที่ 5 ซึ่งมียีนปกติของลักษณะกลายทั้งสองอยู่ เป็นผลให้แมลงตัวผู้แสดงลักษณะปกติเสมอ และแมลงตัวเมียที่ได้ จากการผสมพันธุ์ดังกล่าว จะได้รับแต่ยีนกลายเท่านั้น จึงแสดงลักษณะกลายให้ผู้ปฏิบัติงานคัดเลือกทิ้งไปได้

อย่างไรก็ตาม ในการนำสายพันธุ์จำแนกเพศเหล่านี้ไปใช้งานจริง จำเป็นต้องทดสอบ ความสามารถในการผสมพันธุ์ของแมลงเหล่านี้ กับแมลงในธรรมชาติในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ และต้องทดสอบความคงตัว ของสายพันธุ์ ในการเพาะเลี้ยงระดับโรงงานผลิตแมลง ปัญหาหลักของสายพันธุ์จำแนกเพศ คือ สายพันธุ์ขาดความเสถียร เมื่อต้องเพาะเลี้ยงจำนวนมากเป็นระยะเวลานาน เมื่อการเพาะเลี้ยงผ่านไปมากกว่ายี่สิบรุ่น จะสามารถพบตัวผู้ ซึ่งแสดงลักษณะกลาย และตัวเมียซึ่งแสดงลักษณะปกติ ปะปนอยู่ได้ การคัดเลือกพ่อพันธุ์ ที่มีจุดแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนของโครโมโซม อยู่ใกล้กับเซนโทรเมียร์ ของโครโมโซม Y และใกล้กับตำแหน่งของยีน ที่ควบคุมลักษณะที่ใช้ในการจำแนกเพศ ของโครโมโซมที่เกี่ยวข้อง กอปรกับการคัดเลือกแม่พันธุ์ ที่มีการสลับที่ของชิ้นส่วนภายในโครโมโซมกลาย ซึ่งสามารถระงับการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วน ระหว่างโครโมโซมอันไม่พึงประสงค์ ในการเพาะเลี้ยง จะช่วยลดปัญหานี้และเพิ่มเสถียรภาพของสายพันธุ์ได้

ดักแด้ของแมลงวันผลไม้ เมดิเตอเรเนียน ที่สามารถแยกเพศได้ โดยดักแด้เพศผู้มีสีน้ำตาล และดักแด้เพศเมียมีสีขาว
หนอนแมลงวันผลไม้เมดิเตอเรเนียน ที่เพาะเลี้ยงในอาหารเทียม
 
ตัวเต็มวัยแมลงวันผลไม้เมดิเตอเรเนียน
โครโมโซมแมลงวันผลไม้เมดิเตอเรเนียน
 
รูปภาพจาก
  1. Invasive.org. http://www.invasive.org.
  2. Willhoeft, U., et al. 1998. Genome 41: 74-78.