วงล้อกับรังสี

สุรศักดิ์ พงศ์พันธุ์สุข
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

            ในภาษาละตินเมื่อเอ่ยถึง วงล้อ เขาพูดว่า radius ซึ่งทั้งในภาษาละตินและอังกฤษ หมายถึง เส้นที่ลากจากจุดศูนย์กลางไปถึงขอบวงของล้อ ตรงกับคำว่า รัศมี ในภาษาไทย และถ้ามีหลาย ๆ เส้นลากออกมาทุกทิศทาง คำนี้ก็ต้องใช้เป็นรูปพหูพจน์ว่า radii ทั้งนี้ ลักษณะอาการที่พุ่งออกจากจุดกึ่งกลาง ของเส้นรัศมีเหล่านี้ก็เรียกว่า radiate และเมื่อใช้เป็นคุณศัพท์ก็ใช้ว่า radio-

 
กูกลีเอลโม มาร์โกนี 

เมื่อปี ค.. 1894 นักประดิษฐ์ชาวอิตาลีชื่อว่ากูกลีเอลโม มาร์โกนี (Guglielmo Marconi) ได้ศึกษาและพัฒนารังสีชนิดที่มีพลังงานต่ำกว่าแสงมาก (คลื่นวิทยุ) มาใช้ส่งรหัสข่าวสาร ซึ่งในขณะนั้นก็มีอุปกรณ์ส่งข่าวสารทางไกลอยู่ก่อนแล้ว ก็คือ โทรเลข หรือ telegraph ที่จะต้องส่งรหัสผ่านไปตามสายโทรเลขสำหรับนำสัญญาณซึ่งเรียกว่า wire ดังนั้นอุปกรณ์สื่อสารชนิดใหม่ที่ไม่ต้องใช้สายส่งสัญญาณ แต่ใช้การแผ่รังสีมาแทนที่นี้ ในท้ายที่สุดจึงเรียกกันว่า wireless telegraph กับอีกชื่อหนึ่งที่เริ่มนำคำว่า วงล้อ หรือ รัศมี เข้ามาเกี่ยวข้อง (คงเพราะการแผ่รังสีมีลักษณะพุ่งออกจากจุดกำเนิดออกไปเป็นเส้นตรงในทุกทิศทาง) ก็คือคำว่า radiotelegraph (โทรเลขแผ่รัศมีหรือแผ่รังสี) แต่ชื่อทั้งสองนี้ดูจะยาวเกินไป ชาวอังกฤษจึงนำพยางค์แรกของชื่อแรกมาเรียกแค่สั้น ๆ ว่า wireless และคนอเมริกันเอาคำหลังมาตัดเหลือเพียง radio (ที่คนไทยแปลได้พิสดารมากว่า วิทยุ!)

พอถึงปี ค.. 1896 อองรี แบ็กเกอแรล (Henri Becquerel) ชาวฝรั่งเศสก็ค้นพบว่า ยูเรเนียม มีการแผ่รังสีแบบใหม่ ๆ ที่มีพลังงานสูงกว่าแสงเป็นอันมาก และต่อมาในปี ค.. 1898 นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ ปีแอร์ กูรี (Pierre Curie) กับภรรยาเชื้อชาติโปแลนด์ชื่อว่า มารี กูรี (Marie Curie) เสนอให้เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า radioactivity หรือในพากย์ไทยว่า กัมมันตภาพรังสี

อองรี แบ็กเกอแรล
ปีแอร์ กูรี และ มารี กูรี
ออทโท ฮาน และ ลิเซอ ไมท์เนอร์

            ในปีเดียวกันนี้เอง ครอบครัวกูรีก็ค้นพบธาตุใหม่ที่แผ่รังสีแรงยิ่งกว่ายูเรเนียมขึ้นไปอีก และทั้งคู่ช่วยกันตั้งชื่อให้กับธาตุใหม่นี้ว่า radium (เรเดียม) ถึงปี ค.. 1900 นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันชื่อฟรีดิช แอร์เนสท์ ดอร์น (Friedrich Ernest Dorn) ก็ค้นพบว่า ขณะที่เรเดียมสลายกัมมันตรังสี มีแก๊สถูกปลดปล่อยออกมาด้วย ทุกวันนี้เราก็เรียกแก๊สนี้ว่า radon (เรดอน)

           คำกรีกที่หมายถึง ray ที่เราก็แปลว่ารัศมีหรือรังสีเช่นกัน ก็คือ aktis (รากเดิมว่า aktinos) ก็มีการนำมาใช้ตั้งชื่อเกี่ยวกับรังสีด้วย โดยนักเคมีชาวฝรั่งเศสชื่อ Andre Debierne ก็ค้นพบธาตุกัมมันตรังสีธาตุใหม่เช่นกันในปี ค.. 1899 และเขาจึงนำคำว่า aktis มาใช้เรียกธาตุนี้ว่า actinium (แอกทิเนียม) ดังนี้ เมื่อนักฟิสิกส์ชาวเยอรมันคือออทโท ฮาน (Otto Hahn) กับลิเซอ ไมท์เนอร์ (Lise Meitner) เมื่อได้ค้นพบธาตุที่สลายและแปรธาตุมาเป็นแอกทิเนียม พวกเขาจึงให้ชื่อกับธาตุนี้ว่า protactinium (หรือ protoactinium พากย์ไทยคือ โพรโทแอกทิเนียม ซึ่งแปลว่า first actinium จากภาษากรีก คำว่า protos หมายถึง first)

มาถึงปัจจุบันนี้ เราก็ใช้ สัญลักษณ์เตือนภัยจากรังสี เป็นรูปคล้ายวงล้อ (แต่มักมองกันว่าเป็นรูป ใบพัด) สีม่วงซึ่งมี ๓ แฉก อยู่บนพื้นเหลือง (บางทีอาจเห็นใช้เป็นใบพัดสีดำบนพื้นเหลืองหรือขาวบ้าง) เพื่อบอกให้รู้ว่ามีสารรังสีและมีการแผ่รังสีในบริเวณนั้น

สัญลักษณ์เอนภัยจากรังสี

จากเรื่อง Radioactivity ของ Isaac Asimov