เพราะว่ารังสีมีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ
ดังนั้นเราทุกๆ คน ต่างก็ได้รับรังสีกันถ้วนหน้า
จากการสูดหายใจเอาแก๊สกัมมันตรังสีที่มีปริมาณน้อยๆ อยู่ในอากาศ คือ
เรดอน เข้าไปบ้าง
พื้นดินและอาคารบ้านเรือนที่อยู่รอบตัวเราก็มีการแผ่รังสีอยู่อ่อนๆ
แม้แต่ในร่างกายของเรา ก็มีสารกัมมันตรังสีที่ได้รับจากธรรมชาติจากการดื่ม
กินอาหาร และจากรังสีคอสมิกที่โปรยปรายลงมาจากฟ้าอยู่ตลอดเวลา
เรื่องของรังสีได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
ส่วนหนึ่งคงเพราะรังสีเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็ง
สัมผัสทั้งห้าของมนุษย์รับรู้การมีอยู่ของรังสีได้เพียงไม่กี่ชนิด เช่น
แสงและความร้อน แต่กับรังสีส่วนใหญ่ กลับไม่อาจบอกได้ว่า
เราอาจจะกำลังได้รับรังสีอยู่
นั่นก็อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราตื่นตัวกับเรื่องของรังสี
อย่างไรก็ดี เราก็สามารถใช้ประโยชน์จากรังสีได้ด้วย
โดยเฉพาะในด้านการดูแลรักษาสุขภาพ อย่างเช่นที่โรงพยาบาล
ที่เราจะคุ้นเคยกับการเอกซเรย์ทรวงอก การเอกซเรย์ฟัน กระดูกหัก
รวมทั้งการวินิจฉัยโรคต่างๆ
รังสีคืออะไร
รังสี คือ
พลังงานที่อาจจะอยู่ในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
หรืออนุภาคที่เคลื่อนที่ก็ได้
โดยจะถูกปล่อยออกมาจากต้นกำเนิดรังสีในทุกทิศทุกทาง
ตัวอย่างของรังสีชนิดอนุภาคที่เคลื่อนที่ ก็คือ
รังสีแอลฟา รังสีบีตา และนิวตรอน
ตัวอย่างของรังสีที่เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น
แสงสว่าง และรังสีความร้อน
ซึ่งเป็นรังสีที่สัมผัสของมนุษย์สามารถรับรู้ได้
ส่วนรังสีที่สัมผัสของเราไม่สามารถบอกได้ก็เช่น รังสีอัลตราไวโอเลต
รังสีเอกซ์ รังสีแกมมา ซึ่งรังสีเหล่านี้เป็นอันตรายต่อมนุษย์
เนื่องจากมีพลังงานสูง สำหรับชนิดที่มีพลังงานต่ำ เช่น คลื่นวิทยุ
คลื่นเรดาร์ คลื่นไมโครเวฟ และคลื่นโทรทัศน์
คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแต่ละชนิดดังกล่าวข้างต้น
มีความแตกต่างกันที่พลังงานและความยาวคลื่น ถ้ามีความยาวคลื่นสั้นมาก
ก็สามารถแสดงพฤติกรรมเหมือนกับอนุภาค ที่ไม่มีประจุได้ เรียกว่า โฟตอน
เช่น แสงที่ตามองเห็น รังสีเอกซ์ และรังสีแกมมา
หากรังสีมีพลังงานสูงพอที่จะเขี่ยอิเล็กตรอนออกจากอะตอม
หรือโมเลกุล ซึ่งตามปกติไม่มีประจุ (คือ เป็นกลาง) ได้
และทำให้อะตอมหรือโมเลกุลนั้นแตกตัวเป็นไอออน เกิดมีประจุขึ้นมาได้
รังสีชนิดนี้ก็เรียกว่า รังสีชนิดก่อไอออน (ionizing radiation) เช่น
รังสีเอกซ์ รังสีแกมมา นิวตรอนความเร็วสูง |