การใช้กับดักแมลงวันผลไม้

ประพนธ์ ปราณโสภณ และ มานนท์ สุตันทวงษ์
กลุ่มงานวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติิิ

การกำจัดแมลงวันผลไม้ให้ได้ผลดี มีประสิทธิภาพ จะต้องมีข้อมูลด้านภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงประชากร ของแมลงวันผลไม้ ในแต่ละฤดูกาลประกอบ การใช้กับดัก เป็นวิธีการหนึ่งที่ดีที่สุด ในการสำรวจชนิดของแมลงวันผลไม้ สวนผลไม้ที่ถูกแมลงวันผลไม้ทำลาย ซึ่งสามารถคำนวณความหนาแน่นของประชากรแมลงวันผลไม้ได้ ด้วยวิธีการง่าย จากข้อมูลของจำนวนประชากร ในกับดักและแหล่งที่ตั้งของกับดัก การใช้กับดักจะได้ผลดีมีประสิทธิภาพ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของกับดัก สารล่อแมลงที่เฉพาะเจาะจงกับชนิดของแมลง ความหนาแน่นของประชากรแมลง ซึ่งจะมีปริมาณมากหรือน้อยก็ตามต้องสามารถดักจับได้ รู้ความเคลื่อนไหวและการกระจายตัว ของปริมาณแมลงได้ในแต่ละพื้นที่ของการปลูกพืช

1. การวางแผนเครือข่ายการใช้กับดัก

การวางแผนการใช้กับดักเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่ดำเนินการให้มีประสิทธิภาพอย่างมีระบบ จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับพื้นที่นั้นอย่างแท้จริง อันประกอบด้วยเส้นทางคมนาคม แผนภูมิทางอากาศ บุคลากรด้านการขนย้ายกับดัก แหล่งหรือตำแหน่งที่ตั้งกับดัก นอกจากนี้ยังต้องมีความรู้เกี่ยวกับพืชอาหาร พืชที่อาจจะเป็นอาหารของแมลงวันผลไม้ พฤติกรรมและชีววิทยาของแมลง แผนการควบคุมและกำจัดแมลงวันผลไม้ รวมทั้งงบประมาณในการดำเนินงานต่าง ๆ

บุคลากรผู้ปฏิบัติงาน แบ่งเป็นผู้ที่ทำงานในภาคสนาม ต้องวางกับดักอย่างมีประสิทธิภาพ โดยยึดวัตถุประสงค์ที่สำคัญไว้ และบุคลากรที่ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ ต้องมีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์การตรวจวินิจฉัยชนิด เพศ ของแมลงวันผลไม้ ที่ได้จากกับดัก ว่าเป็นแมลงเพศผู้หรือเพศเมีย เป็นหมันหรือไม่เป็นหมันด้วยรังสี

ช่วงระยะเวลาการวางกับดักให้เป็นระบบช่วงเดียวกันในแต่ละปี ซึ่งจะสามารถนำตัวเลขข้อมูลที่ได้ มาเปรียบเทียบกันในทางสถิติ การใช้กับดักที่มีจำนวนน้อย เหมาะสำหรับศึกษาการกระจายตัวของแมลงวันผลไม้ ในพื้นที่ที่ผลไม้ถูกทำลาย หรือใช้เป็นเครื่องมือตรวจนับแมลงวันผลไม้ ในพื้นที่ที่มีแมลงวันผลไม้ระบาดน้อย การใช้กับดักแมลงวันผลไม้ ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้อย เพื่อการกักกันพืช เช่น สนามบินนานาชาติ ด่านกักกันพืชตามชายแดน หรือรอยต่อระหว่างประเทศ การใช้กับดักในพื้นที่ที่กำหนดไม่ให้มีแมลงวันผลไม้เลย การใช้โดยติดตั้งทั่วไปทุกแห่ง เช่น พื้นที่ปลูกไม้ผล ตลาดขายผลไม้ สถานที่ท่องเที่ยว เพื่อใช้ตรวจนับประชากรแมลงวันผลไม้อย่างเป็นระยะ ๆ ในสถานที่ทุกแห่งที่ทำการวางกับดักไว้ สามารถสำรวจพบแมลงวันผลไม้ตั้งแต่ต้น จะได้กำจัดแมลงวันผลไม้ได้อย่างสัมฤทธิ์ผล อย่างรวดเร็วและประหยัด ส่วนจำนวนกับดักที่ใช้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่

การประมาณจำนวนกับดักที่จะใช้ในพื้นที่ต่างๆมีอยู่ 2 วิธีการ

  • การใช้กับดักจำนวนมาก วิธีการนี้ใช้สำหรับพื้นที่ที่กำลังดำเนินการควบคุมและกำจัดและพื้นที่รอบ ๆ
  • การใช้กับดักจำนวนน้อย เช่น ในพื้นที่ที่ใช้สารเคมีกำจัดแมลงวันผลไม้ เพื่อตรวจประสิทธิภาพของสารเคมี ใช้กับดัก 1–25 กับดักต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร การใช้กับดักแมลงวันผลไม้ ในพื้นที่ที่ได้กำจัดแมลงวันผลไม้ หมดไปโดยสิ้นเชิงแล้ว ในแหล่งพืชอาศัยตามธรรมชาติ โดยใช้กับดัก 1 กับดักต่อพื้นที่ 2 ตารางกิโลเมตรในสภาพที่ไม่มีพืชอาหารในป่า 1–2 กับดักต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ในสภาพพื้นที่ปลูกไม้ผล อาจเพิ่มเป็น 6-8 กับดักต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตรในพื้นที่เขตชุมชน

2. สารล่อที่ใช้ในกับดัก

สารล่อที่นิยมนำมาใช้ในกับดักแมลงวันผลไม้ เช่น สารล่อเพศ และสารล่ออาหาร สารล่อเพศ เช่น สารล่อแมลงที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นเลียนธรรมชาติ เช่น methyl eugenol และ cuelure สารล่อแมลงวันผลไม้ในปัจจุบันนี้ เป็นสารล่อแมลงพวกสารล่ออาหารและสารดึงดูดแมลงเพศผู้ให้เข้ามาหาและกินเป็นอาหาร เช่น cuelure ใช้กับแมลงวันแตง, Bactrocera cucurbitae methyl eugenol ใช้กับแมลง B. dorsalis และ B. correcta trimedlure ใช้กับ medfly, Ceratitis capitata สารล่ออาหาร เป็นสารที่ล่อแมลง ให้มากินเป็นอาหาร สารล่อประเภทนี้ มักส่งกลิ่นดึงดูดไม่ไกล ดึงดูดแมลงหลายชนิดไม่เฉพาะเจาะจง ดึงดูดทั้งแมลงเพศผู้และเพศเมีย เช่น ยีสต์โปรตีน

3. รูปแบบของกับดักแมลงวันผลไม้

กับดักที่ใช้ดักแมลงวันผลไม้ชนิด B. dorsalis ที่นิยมใช้มี 3 รูปแบบคือ

  3.1 กับดักชนิดแห้ง Steiner
  กับดักชนิดนี้ทำด้วยกรวยทรงกลมใสมีฝาปิดทั้งสองด้านที่ฝาทั้งสองด้าน ตรงกลางเจาะรูด้านละ 1 รู แต่ละรูแบ่งเป็นสองส่วนด้านบนเปิด ด้านล่างปิดด้วยลวดตาข่าย ภายในกรวยกลมนี้ แขวนสำลีชุบสารล่อผสมสารฆ่าแมลง การใช้กับดักนี้ในพื้นที่ปล่อยแมลงที่เป็นหมันมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ
 
  • ตรวจสอบการแพร่กระจายของแมลงวันผลไม้ที่เป็นหมัน
  • หาอัตราส่วนของแมลงที่เป็นหมันกับแมลงในธรรมชาติ
  • ใช้ในการตรวจสอบประชากรของแมลง
  สารล่อใช้ methyl eugenol ดึงดูดเฉพาะเพศผู้ สารฆ่าแมลงใช้มาลาไทออน
 
 
รูปกับดัก Steiner
  3.2 กับดักชนิดเหลว(น้ำ) McPhail
  กับดักชนิดนี้ประกอบด้วยโถแก้วก้นกลวงเป็นกรวยอยู่ภายใน บรรจุเหยื่อล่อและมีฝาครอบใสอยู่ด้านบนพร้อมด้วยที่แขวน แมลงวันผลไม้เข้าไปทางก้นเพื่อกินเหยื่อและจมน้ำ เหยื่อล่อเป็นของเหลวประกอบด้วย โปรตีน 10% บอเร็กซ์ 3% และน้ำ 87% กับดักชนิดนี้ดึงดูดทั้งสองเพศ
 
 
รูปกับดัก McPhail
  3.3 กับดักชนิดกาวเหนียว Jackson
  กับดักชนิดนี้ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ
 
  • ตัวกับดักทำด้วยกระดาษแข็งเคลือบด้วยพลาสติกหรือคลุมด้วยแผ่นฟิล์มใส
  • ภายในตัวกับดักเป็นแผ่น 4 เหลี่ยมทำด้วยวัสดุเหมือนตัวกับดักทากาวด้านผิวเรียบให้ทั่ว
  • เหยื่อล่อทำด้วยแท่งสำลีอัดแน่นกว้าง 3.6 ซม. ยาว 9.5-10 ซม. สามารถดูดซับสารล่อได้ประมาณ 1 ลบ.ซม.
  • ที่แขวนเป็นตะขออยู่ภายในกับดักสำหรับแขวนกับดักประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ตัวแขวนที่ทำด้วยลวดแข็งสอดใส่อยู่ในตัวกับดักตัวแยกที่ต่อเชื่อมกับปลายด้านหนึ่งของลวด แขวนด้านล่างเพื่อกันไม่ให้ก้อนสำลีอัดแน่นสัมผัสกับผิวของตัวกับดัก ตัวแขวนเหยื่อล่อเป็นเส้นลวดหนา สำหรับติดก้อนสำลีที่ชุบสารล่อ methyl eugenol ไม่ให้แกว่งและสัมผัสกับแผ่นกาวหรือตัวกับดัก กับดักนี้ดึงดูดเพศผู้
   
 
 
รูปกับดัก Jackson
4. ขั้นตอนการเตรียมการใช้กับดัก
 
4.1
อุปกรณ์ในการติดตั้งกับดักประกอบด้วยไม้ยาวประมาณ 6 ฟุต ที่ปลายมีตะขอเพื่อแขวนกับดัก ภาชนะบรรจุกาวเหนียว ภาชนะบรรจุสารล่อ อุปกรณ์หยดสารล่อ อุปกรณ์ทากาว อุปกรณ์ทำความสะอาด แผนที่เส้นทางและแบบรายงาน
 
4.2
ขั้นตอนการติดตั้งกับดักประกอบด้วยการตรวจกับดักและก้อนสำลีที่ใส่สารล่อให้แน่น ตัวแขวนก้อนสารล่อต้องอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สัมผัสกับตัวกับดักสาร methyl eugenol ต้องใช้อย่างระมัดระวังอย่าให้หกหรือกระเด็นไปถูกกับวัสดุอื่นทั้งภายในหรือภายนอกกับดัก การแขวนกับดักบนต้นไม้ควรแขวนกับดักบนต้นไม้ในทิศทางที่ลมพัดผ่านไม่อับทางลม วางในร่มเงาของต้นไม้ตลอดวันสูงกว่า 2 เมตรตรงกิ่งที่แข็งแรง ห่างจากลำต้นไปยังปลายทรงพุ่มประมาณ 1/2 หรือ 2/3 ไม่ควรแขวนในบริเวณที่มีใบหนาแน่นเพราะจะบังทางเข้ากับดัก รอบ ๆ กับดักประมาณ 12–18 นิ้ว ไม่ควรมีใบไม้
 
4.3
การเลือกสถานที่และชนิดพืชที่วางกับดัก การเลือกสถานที่ที่วางกับดัก ควรแขวนใต้ต้นไม้ที่มีผลเป็นอันดับแรก รวมทั้งต้นไม้ที่อยู่ห่างไกลด้วย เช่น ตามป่า ตามพืชสวนอื่น ๆ หรือแหล่งที่มีต้นไม้ที่ไม่มีผล การเลือกต้นไม้ที่วางกับดักพยายามหาต้นไม้ที่เป็นพืชอาหารหลักของแมลงวันผลไม้
 
4.4
การจดบันทึกสถานที่ติดตั้งกับดัก ควรบันทึกเกี่ยวกับการใช้กับดักแต่ละกับดักให้ชัดเจนเพื่อรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ไว้ใช้ประโยชน์ของผู้วางกับดัก แผ่นรายงานประกอบด้วยข้อมูลแผนผังพื้นที่การวางกับดัก ตำแหน่งที่วางกับดัก เส้นทางการวางกับดัก และหมายเลขกับดัก
 
4.5
ขั้นตอนการตรวจกับดัก ตรวจสอบภายในกับดักว่ามีสิ่งใดชำรุดเสียหายหรือหายไปก็ใช้อันใหม่วางแทน ในกรณีที่จำเป็นต้องเปลี่ยนที่หยดสารล่อต้องทำอย่างระมัดระวังไม่ให้หยดติดกับผนังกับดัก นิ้วมือผู้ปฏิบัติ ตัวกับดักชำรุดเสียหาย ถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ควรติดรายละเอียดให้เหมือนเดิม
5. ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยแมลงวันผลไม้ในห้องปฏิบัติการ
 
5.1
บุคลากรผู้ปฏิบัติงาน จำนวนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ จะขึ้นอยู่กับจำนวนกับดักทั้งหมด ช่วงการดำเนินโครงการ เช่น ก่อนการปล่อยแมลงที่เป็นหมัน ใช้เจ้าหน้าที่คนเดียวและรับผิดชอบผู้วางกับดักได้จำนวน 10 คน แต่ในกรณีที่ปฏิบัติงานปล่อยแมลงวันผลไม้ที่เป็นหมันจะต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่มากขึ้น
 
5.2
ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย เมื่อปล่อยแมลงวันผลไม้ที่เป็นหมันไปในธรรมชาติ เมื่อวางกับดักเพื่อหาสัดส่วนแมลงที่เป็นหมันต่อแมลงธรรมชาติ แมลงที่ติดกับดักจะมี 2 พวก คือ พวกที่มีสีสะท้อนแสงติดเป็นแมลงวันผลไม้ที่ทำหมัน เนื่องจากทำเครื่องหมายด้วยผงสีสะท้อนแสงในระยะดักแด้ และพวกที่ไม่มีสีสะท้อนแสงเป็นแมลงในธรรมชาติ โดยดูผ่านภายใต้แสงอัลตราไวโอเลต การตรวจวินิจฉัยแมลงที่ได้จากกับดักทั้งหมดต้องทำด้วยความระมัดระวัง ละเอียดรอบคอบ สะอาดปราศจากสิ่งเจือปน
 
5.3
แมลงอื่น ๆ ที่ติดในกับดักแมลงวันผลไม้ ในกับดักที่ใช้สารล่อ methyl eugenol จะมีแมลงวันผลไม้หลายชนิดเข้ากับดัก ต้องคัดเลือกแมลงวันผลไม้ชนิดที่ทำหมันและปล่อยในธรรมชาติ หรืออาจจะมีแมลงหรือสัตว์อื่นที่ติดมาด้วย ต้องคัดแยกออกและส่งไปวินิจฉัยต่อไป