ลำไยเป็นไม้ผลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ประเทศที่นำเข้าลำไยสดจากประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ส่วนตลาดสินค้าเกษตรใหญ่ ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และประเทศในแถบยุโรป ที่เข้มงวดในการกักกันพืชจะไม่ยอมให้มีการนำเข้าลำไยสดจากประเทศไทย เนื่องจากปัญหาการปนเปื้อนของแมลงและพิษตกค้างของสารฆ่าแมลง การห้ามใช้สารรม ethylene dibromide (EDB) และ methyl bromide (MB) ในการกำจัดแมลง ทำให้หลายประเทศมีปัญหาในการส่งออกผลไม้และผักสด จึงมีการพัฒนาวิธีอื่นขึ้นมาทดแทน ในปี 2535 ICGFI (The International Consultative Group on Food Irradiation) ได้สรุปว่าการฉายรังสีเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงที่มีความสำคัญทางกักกันพืช และภายใต้ข้อตกลงของ WTO (The World Trade Organization); The Agreements on the Application Sanitary and Phytosanitary Measures (SPS) และThe Technical Barriers to Trade (TBT) ทำให้สามารถเจรจาต่อรอง ในการจัดการลดระดับความเสี่ยงของศัตรูพืช จนยอมรับกันได้ ระหว่างประเทศผู้ซื้อและประเทศผู้ขายได้มากขึ้น ในปี 2545 สหรัฐอเมริกาอนุญาตให้นำเข้าผักและผลไม้ ที่ผ่านการฉายรังสีกำจัดแมลงวันผลไม้และด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงแล้ว
จากผลการทดลองพบว่า ผลลำไยที่ไม่มีการมีรอยแตกหรือรอยเจาะจะไม่มีการทำลายของแมลงวันผลไม้ ส่วนลำไยที่ร่วงโคนต้นพบการทำลายของแมลงวันผลไม้, Bactocera dorsalis (Hendel)เท่านั้น ทั้ง B. dorsalis และ B. correcta สามารถเจริญเติบโตได้ดีในผลลำไย แต่ B. dorsalis ออกเป็นตัวเต็มวัยได้มากกว่า Komson และคณะ (1992) พบว่าในสวนลำไยมีตัวเต็มวัยของ B. dorsalis, B. correcta, B. zonatus, B. cucurbitae, B. nigrotibialis และ B. caudatus แต่ในผลลำไยไม่พบการทำลายของแมลงวันผลไม้เลย ไข่และหนอนของ B. dorsalis ในผลลำไยสามารถทนทานต่อรังสีแกมมาได้มากกว่าไข่และหนอนของ B. correcta ดังนั้นจึงทำการศึกษาหาปริมาณรังสีที่ใช้ควบคุมกำจัด B. dorsalis เท่านั้น ที่ปริมาณรังสี 124.56 เกรย์สามารถยับยั้งการออกเป็นตัวเต็มวัยของหนอน B. dorsalis ได้ 99.9968 % (Probit 9) ที่ปริมาณรังสี 150 เกรย์ ทำให้หนอน B. dorsalis จำนวน 171,567 ตัวไม่สามารถเจริญเติบโตจนออกเป็นตัวเต็มวัยได้ ที่ระดับความเชื่อมั่น 95 % , p = 0.999982539 ประเวทย์และคณะ (2542, 2545) พบว่าปริมาณรังสี ที่สามารถยับยั้งการออกเป็นตัวเต็มวัยของหนอน B. dorsalis ได้ 99.9968 % ในมะละกอและส้มเขียวหวาน เท่ากับ 140 และ 119 เกรย์ Burditt และ Seo (1971) กำหนดปริมาณรังสีต่ำสุดที่ใช้ยับยั้งการออกเป็นตัวเต็มวัยของแมลงวันผลไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น Mediterranean fruit fly, Oriental fruit fly และ melon fly ในมะละกอไว้ที่ 260 เกรย์ (Probit 9) แต่Manoto (1992) และ Balock (1966) พบว่าปริมาณรังสีเพียง 100 เกรย์สามารถยับยั้งการออกเป็นตัวเต็มวัยของ B. dorsalis ในมะม่วงและอะโวคาโด The International Consultative Group on Food Irradiation (1986 และ 1991) สรุปว่าปริมาณรังสีต่ำสุดที่ใช้ยับยั้งการออกเป็นตัวเต็มวัยของแมลงวันผลไม้ทั้ง 30 กว่าชนิดที่เป็นศัตรูของผลไม้ เท่ากับ 150 เกรย์ แต่ USDA-Animal Plant Health Inspection Service (APHIS) ได้ออกกฎหมายฉบับที่ 7 CFR part 319 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1996 กำหนดว่าให้ฉายรังสีที่ 250 เกรย์ เพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ B. dorsalis ในการกักกันพืช 22 ตุลาคม 2545 APHIS ได้ประกาศการอนุมัติให้ฉายรังสีกำจัดแมลงวันผลไม้ และด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง ในผักและผลไม้ เพื่อนำเข้าสหรัฐอเมริกา การฉายรังสีแกมมาที่ปริมาณรังสี 0-2,000 เกรย์ ไม่มีผลต่อการสูญเสียของน้ำหนัก เปอร์เซ็นต์การเน่าเสีย และเปอร์เซ็นต์บริกซ์ของลำไยปกติและลำไยอบกำมะถัน ที่เก็บไว้ในอุณหภูมิ 5 oเซลเซียส. เป็นเวลา 1, 7, 14 และ 21 วัน แต่การอบกำมะถันทำให้การเน่าเสียของลำไยช้าลง เช่นเดียวกับการทดสอบทางประสาทสัมผัสพบว่า การฉายรังสีไม่มีผลต่อลักษณะภายนอก สี กลิ่น รสชาติ เนื้อสัมผัสของเนื้อลำไย ความชุ่มช่ำ และลักษณะโดยรวมของลำไยปกติและลำไยอบกำมะถันอย่างมีนัยสำคัญ คะแนนเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ แต่ลำไยอบกำมะถันจะมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าลำไยปกติ ผลการทดลองนี้สอดคล้องกับที่ ICGFI สรุปไว้ว่าลำไยเป็นผลไม้สดที่มีความทนทานต่อรังสีสูง
สรุป ลำไยปกติจะไม่พบการทำลายของแมลงวันผลไม้ แต่ B. dorsalis และ B.correcta สามารถขยายพันธุ์ได้ดีในเนื้อลำไย ในการฉายรังสีแกมมาลำไย เพื่อกำจัดแมลงวันผลไม ้ในการกักกันพืชควรใช้ปริมาณรังสีต่ำสุด เท่ากับ 150 เกรย์ และลำไยสามารถทนทานต่อรังสีได้สูงถึง 2 กิโลเกรย์ โดยคุณภาพยังเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ในการค้า ควรใช้การฉายรังสีร่วมกับการอบกำมะถัน และการเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิ 5 oเซลเซียส. ซึ่งจะเก็บลำไยสดไว้ได้นานกว่า 21 วัน |