การฉายรังสีกำจัดแมลงบนผิวมังคุด

ฐิติมา คงรัตน์อาภรณ์
ฝ่ายเทคโนโลยีชีวภาพและการเกษตร กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์


มังคุดเป็นไม้ผลเมืองร้อนที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย เพราะเป็นผลไม้ที่มีรสชาติดีเยี่ยม กลิ่นหอมหวาน รสชาติหวานอมเปรี้ยว รูปทรงและสีของผลสวยงามและมีคุณสมบัติที่ดีในการขนส่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นราชินีแห่งผลไม้ ประเทศไทยสามารถผลิตมังคุดส่งออกไปขายยังต่างประเทศ นำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านบาท ตลาดต่างประเทศที่สำคัญได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ใต้หวัน แคนาดา สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ออสเตรเลีย บรูไน จีน และทวีปยุโรป แต่ในบางประเทศได้เข้มงวดในการนำเข้ามังคุดสดจากประเทศไทย เนื่องจากปัญหาแมลงศัตรูพืชที่ติดไปกับผลมังคุด การทดลองใช้รังสีเพื่อกำจัดแมลงศัตรูไม้ผล จึงเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาการปนเปื้อนของแมลง ที่เข้าทำลายบริเวณผิวของผลไม้ เพราะถึงแม้จะมีวิธีการทำความสะอาดอย่างละเอียดถี่ถ้วน แต่ถ้ามีแมลงหลงติดไปเพียงตัวเดียว ผลิตผลที่นำไปยังตลาดที่มีการกีดกัน ก็อาจถูกนำไปทำลายเสียทั้งหมด การทดลองนี้ จึงมีจุดประสงค์เพื่อสำรวจชนิดของแมลง ที่ปนเปื้อนบริเวณผิวมังคุด และศึกษาหาปริมาณรังสีที่เหมาะสม เพื่อกำจัดแมลงเหล่านี้ จากการสำรวจแมลงศัตรูพืช ที่ปนเปื้อนผิวมังคุด โดยสุ่มตัวอย่างมังคุดคัดขนาด จากจังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ปี 2547-2548 พบแมลงปนเปื้อนคิดเป็นร้อยละ 91.72 โดยแมลงที่พบมากได้แก่ เพลี้ยแป้ง หรือ Citrus mealy bug (Pseudococcus cryptus) มีลักษณะรูปไข่ ค่อนข้างกว้าง ลำตัวยาวประมาณ 2.8 ถึง 3.0 มิลลิเมตร ผนังลำตัวสีเหลืองอ่อน ปกคลุมด้วยไขแป้งสีขาว ตัวอ่อนสีเหลืองอ่อน ไข่มีถุงหุ้มสีขาว (บุปผาและคณะ, 2543) อยู่กระจายใต้กลีบเลี้ยง อัตราการทำลาย ร้อยละ 48.23 รองลงมาได้แก่ เพลี้ยหอย หรือ Oriental scale (Aonidiella orientallis) ตัวเต็มวัยมีสีเหลืองอ่อน ลำตัวยาวประมาณ 1.0 ถึง 1.4 มิลลิเมตร มีแผ่นคลุมลำตัว (scale) ทรงกลมหรือรูปไข่ ลักษณะแบบสีเหลืองอมน้ำตาล (บุปผาและคณะ, 2543) อยู่กระจายใต้กลีบเลี้ยง และผิวมังคุด อัตราการทำลายร้อยละ 26.67 และพบไร 2 ชนิดได้แก่ ไรแดงชา หรือ Red tea mite (Oligpnychus coffee) ตัวเมียลำตัวอ้วนกลมหรือรูปไข่ ตัวผู้ส่วนหน้ากว้าง ส่วนท้ายเรียวแหลม ตัวเมียสีแดงหรือสีส้ม ตัวผู้สีอ่อนกว่าตัวเมีย อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใต้กลีบเลี้ยง พบทั้งระยะไข่ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย และพบคราบของไรเป็นผงขาว ๆ คล้ายฝุ่นจับ อัตราการทำลายร้อยละ 75.29 และไรขาว หรือ Broad mite (Polyphagotarsonemus latus) มีลักษณะกลมลำตัวสีขาวใส สะท้อนแสง พบในบริเวณเดียวกับไรแดงชา แต่มีจำนวนน้อย อัตราการทำลายร้อยละ 26.67

หลังจากนั้น ได้นำตัวอย่างมังคุดคัดขนาด จากจังหวัดจันทบุรี ช่วงเดือนเมษายน ถึงเดือนมิถุนายนปี 2547-2548 มาทดลองฉายรังสีเพื่อกำจัดแมลงที่ปนเปื้อนมากับผลมังคุด ฉายรังสีที่ปริมาณรังสี 0 200 400 600 800 เกรย์ โดยใช้เครื่องฉายรังสี Gamma Beam 650 ซึ่งมีโคบอลต์ 60 เป็นแหล่งกำเนิดรังสีแกมมา ตรวจสอบการตายของแมลงภายหลังฉายรังสี 7 วัน จากการตรวจสอบพบว่า ไรขาวมีความทนทานต่อรังสีสูงสุดคือมีการตายที่ LD50 และ LD99 เท่ากับ 1,528.15 และ 2,965.1 เกรย์ ไรแดงชามีความทนทานต่อรังสีรองลงมาโดยให้ค่า LD50 และ LD99 เท่ากับ 882.51 และ 1,662.77 เกรย์ ทางด้านเพลี้ยแป้งและเพลี้ยหอยมีความทนทานต่อรังสีน้อยกว่าไร โดยเพลี้ยแป้งมีค่า LD50 และ LD99 เท่ากับ 362.49 และ 913.05 เกรย์ ทางด้านเพลี้ยหอยมีค่า LD50 และ LD99 เท่ากับ 372.36 และ 848.09 เกรย์ จากผลการทดลองจะเห็นได้ว่าปริมาณรังสีที่ใช้กำจัดแมลงทั้ง 4 ชนิด มีปริมาณที่สูงมากเนื่องจากตรวจผลการตายที่ระยะเวลา 7 วัน ภายหลังฉายรังสี ถ้าตรวจผลการตายที่ระยะเวลานานกว่านี้อาจใช้ปริมาณรังสีน้อยลง แต่เนื่องจากกลีบเลี้ยงของผลมังคุดเริ่มเหี่ยว ไม่น่ารับประทานแม้ว่าเนื้อภายในยังดีอยู่ก็ตาม จึงได้กำหนดตรวจผลการตายที่ 7 วัน และจากการศึกษาผลของรังสีต่อคุณภาพทางกายภาพของมังคุด พบว่า การฉายรังสีที่ปริมาณรังสี 0.25-1 กิโลเกรย์ มังคุดฉายรังสีมีอัตราการเปลี่ยนสีเปลือกช้ากว่าไม่ฉายรังสี แต่รังสีไม่มีผลต่อความแน่นเนื้อ เปอร์เซ็นต์น้ำตาล และค่าความเป็นกรด-ด่าง และเมื่อเก็บนานขึ้นจะทำให้เปอร์เซ็นต์น้ำตาลลดลง การทดสอบคุณภาพทางประสาทสัมผัส พบว่ามังคุดที่ฉายรังสีไม่เกิน 1 กิโลเกรย์ เป็นที่ยอมรับของผู้ทดสอบในด้านลักษณะภายนอก สี เนื้อ กลิ่น รสชาติ และความชุ่มฉ่ำ โดยมังคุดที่ผ่านการฉายรังสีสามารถเก็บรักษาคุณภาพไว้ได้นาน 24 วัน ที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส (วณิช และคณะ, 2546)

เอกสารอ้างอิง

  1. บุปผา เหล่าสินชัย และชลิตา อุณหวุฒิ. 2543. เพลี้ยแป้งและเพลี้ยหอยศัตรูที่พืชสำคัญ. กลุ่มงาน อนุกรมวิธานแมลง กองกีฎและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร. โรงพิมพ์คุรุสภา กรุงเทพฯ. 70 หน้า.
  2. วณิช ลิ่มโอภาสมณี และอรรจยา มาลากรอง. 2546. เทคโนโลยีการฉายรังสีมังคุดเพื่อการส่งออก. ประชุมวิชาการเรื่องการเพิ่มศักยภาพมังคุดไทยเพื่อการส่งออก. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ. นครศรีธรรมราช. 12 หน้า