ไอโซโทปในธรรมชาติบางชนิดเป็นไอโซโทปรังสี ซึ่งสามารถที่จะเกิดการสลายกัมมันตรังสีได้ เช่น ทริเทียม และคาร์บอน-14 (14C) ซึ่งมีอยู่เป็นปริมาณน้อยมาก ส่วนใหญ่ ทริเทียมและคาร์บอน-14 ในบรรยากาศเกิดจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในปี 1960 ไอโซโทปเหล่านี้ จะปนอยู่ในน้ำบาดาล โดยการแทรกซึมของน้ำฝนหรือน้ำจากผิวดิน โดยคาร์บอนนั้นมักจะพบอยู่ในรูปของสารประกอบคาร์บอเนต เราสามารถที่จะตรวจสอบไอโซโทปรังสีเหล่านี้ได้ด้วยอุปกรณ์เฉพาะทางที่มีความไวสูง จากครึ่งชีวิตและปริมาณของไอโซโทปรังสีเหล่านี้ ซึ่งจะถูกนำมาคำนวณค่าเป็นอายุ หรือช่วงเวลาที่น้ำบาดาลถูกกักอยู่ในแหล่งนั้น ๆ ซึ่งจะบ่งบอกถึงอัตราการเข้ามาแทนที่ ซึ่งเท่ากับอัตราการเคลื่อนที่ของน้ำที่เข้ามาเติมเต็มได้
เทคนิคไอโซโทปยังสามารถที่จะประเมินมลภาวะของน้ำบาดาล โดยศึกษาการเคลื่อนของมลพิษจากน้ำผิวดิน การศึกษาแหล่งเติมเต็มน้ำบาดาลจะสามารถบ่งชี้สภาวะการปนเปื้อนว่ามาจากธรรมชาติ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม หรือมาจากบ้านเรือน เพื่อการวางแผนป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหา
ถึงแม้เทคนิคไอโซโทปจะไม่สามารถใช้ค้นหาตำแหน่งของแหล่งน้ำใต้ดิน ยังต้องใช้ความรู้ทางธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ แต่เทคนิคนี้สามารถให้ค่าเบื้องต้นของการไหล และต้นกำเนิดของน้ำ เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในการประเมินการขุดเจาะบ่อบาดาล และนักอุทกวิทยา สามารถที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อการจัดการน้ำบาดาลอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น เรายังสามารถนำไปใช้ในการศึกษา เกี่ยวกับสภาวะโลกร้อน โดยติดตามไอโซโทปของคาร์บอน ในแก๊สเรือนกระจก (greenhouse gas) ที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ ไอโซโทปของไนโตรเจนและกำมะถัน จะช่วยอธิบายการเกิดแก๊สพิษ และฝนกรดจากอุตสาหกรรม ไอโซโทปของออกซิเจน และโฮโดรเจนในน้ำ จะใช้บ่งชี้อุณหภูมิของอากาศ ความสัมพันธ์ระหว่างความชื้นและจำนวนของน้ำฝน อีกทั้งยังใช้ศึกษาการเปลี่ยนแปลง ของบรรยากาศในโลกยุคต่างๆ โดยการศึกษาน้ำ ที่มาจากแหล่งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลานับล้านปี อาทิบริเวณขั้วโลก
อนึ่ง เทคนิคไอโซโทปยังใช้ในการศึกษาแหล่งความร้อนใต้พิภพ เพราะเมื่อน้ำฝนเคลื่อนที่ลึกลงไปในเปลือกโลก น้ำก็จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น บางครั้งก็จะโผล่ออกมาที่ผิวโลกกลายเป็นน้ำพุร้อน ซึ่งในหลายประเทศ แหล่งกำเนิดพลังงานความร้อนใต้พิภพ ถูกนำมาใช้ประโยชน์โดยการเจาะและควบคุมแหล่งกำเนิด หรือการใช้น้ำร้อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เทคนิคไอโซโทป สามารถใช้หาต้นกำเนิด และทิศทางการไหลของของไหล ของน้ำร้อนใต้พิภพ เนื่องจากน้ำที่มาจากแหล่งความร้อนใต้พิภพ จะมีอัตราส่วนไอโซโทปของ ออกซิเจน 18 และ ดิวเทอเรียม ที่แตกต่างจากแหล่งน้ำอื่น ๆ ดังนั้น ข้อมูลเหล่านี้ ก็จะถูกใช้เพื่อช่วยเหลือ ในการค้นหาต้นกำเนิดแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนั้น หากเปรียบเทียบเทคนิคไอโซโทปกับวิธีการอื่น ๆ ที่ใช้เพื่อการติดตามและพิสูจน์ความสัมพันธ์ในการประเมินแหล่งกำเนิดและการจัดการทรัพยากรน้ำแล้ว ยังเป็นเทคนิคที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าอีกด้วย
กิจกรรมทางอุทกวิทยาไอโซโทป (isotope hydrology) ในประเทศไทย |